สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

วันวัณโรคสากล หมอแนะหากมีอาการไอเรื้อรังติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ขอให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรค ผู้ป่วยวัณโรครู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจายเชื้อ และขอให้กินยาให้ครบ เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา

นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ กำหนดให้วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันวัณโรคสากล(World TB Day) เพื่อย้ำเตือนให้ประชากรทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายจากวัณโรคและร่วมกันต่อต้านวัณโรค โดยการเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยวัณโรค เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการวินิจฉัยในกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการป้องกันและการรักษาวัณโรค

สถานการณ์วัณโรคในประเทศไทย ปี พ.ศ.2565 ประมาณการว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 103,000 รายต่อปี และมีการเสียชีวิตเนื่องจากวัณโรคกว่า 12,000 รายต่อปี ส่วนสถานการณ์วัณโรคในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 (ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์) พบอุบัติการณ์วัณโรค ในปี พ.ศ. 2563 – 2565 อยู่ที่ 135 , 131 และ 130 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ ซึ่งพบว่าการค้นพบผู้ป่วยวัณโรคยังต่ำกว่าค่าคาดประมาณอุบัติการณ์ของ WHO และในปี พ.ศ. 2566 ในพื้นที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำ ขึ้นทะเบียนรักษา จำนวน 7,165 ราย โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น ได้ดำเนินโครงการเร่งรัดควบคุมวัณโรคมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ด้วยการถ่ายภาพรังสีทรวงอก และการส่งเสมหะตรวจ molecular test เพื่อการวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ตลอดจนพัฒนาความร่วมมือกับทั้งโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน ในการนำผู้ป่วยวัณโรคทุกคนเข้าสู่ระบบบันทึกข้อมูลผู้ป่วยวัณโรครายบุคคล NTIP อย่างครอบคลุม รวมทั้งการขับเคลื่อนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 โดยมีกิจกรรม ดังนี้

1) การขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านคณะกรรมการเชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรควัณโรคดื้อยาหลายขนาน และวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก เขตสุขภาพที่ 7

2) อบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพแพทย์ เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ ที่รับผิดชอบงานวัณโรค เขตสุขภาพที่ 7

3) ประชุมชี้แจงนโยบายและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานวัณโรค (DOT meetting)เขตสุขภาพที่ 7

4) ขับเคลื่อนผ่านการตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประเด็น Area base : TB และอีกหลายกิจกรรมของโครงการที่ร่วมขับเคลื่อนโดยทีมผู้รับผิดชอบงานวัณโรคของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากทีมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

นายแพทย์สมาน กล่าวเพิ่มเติมว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งติดต่อได้โดยการที่ผู้ป่วยไอ จาม และเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ทางการหายใจ โดยอาการของผู้ป่วยวัณโรคจะเริ่มจากไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือด มีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ดังนั้นหากพบว่าตนเองหรือผู้ใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป

สำหรับผู้ป่วยวัณโรค ขอให้กินยาให้ครบตามแพทย์แนะนำ แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ต้องกินยาอย่างต่อเนื่องห้ามหยุดยาหรือลดยาเองโดยเด็ดขาด หากหยุดยาเองหรือกินยาไม่ครบเชื้อวัณโรคที่ยังหลงเหลืออยู่ในร่างกายจะปรับตัวให้ทนต่อยารักษาทำให้เกิดภาวะเชื้อดื้อยา ซึ่งวัณโรคดื้อยานั้นจะรักษาได้ยากและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมาก

 

***************************************************
ข้อมูล : กลุ่มโรคติดต่อเรื้อรัง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น
ข่าว : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงฯ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น
วันที่ 23 มีนาคม 2566


ข่าวสารอื่นๆ