สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

แพทย์เตือนอันตรายจากสภาวะอากาศที่ร้อนจัด เสี่ยงอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้

          จากรณีที่ กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศในช่วงวันที่ 26-29 มี.ค. 66 ความกดอากาศต่ำ เนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนทำให้มีอากาศร้อนจัดในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 34-41 องศาเซลเซียส ลักษณะเช่นนี้อาจทำให้ประชาชนปรับสภาพไม่ทัน เจ็บป่วยจากอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้มีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ตัวร้อนจัด ปวดศีรษะ ชีพจรเต้นเร็ว เหงื่อไม่ออก ความดันโลหิตลดลงและอาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ  

วันที่ 27 มีนาคม 2566 นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น แสดงความเป็นห่วงประชาชนที่อาจได้รับอันตรายจากสภาวะอากาศที่ร้อนจัด  โดยเฉพาะในช่วงกลางวันจนถึงบ่าย อาจเจ็บป่วยจากภาวะ ฮีทสโตรก (Heat stroke) หรือ อันตรายจากลมร้อน ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกาย ส่งผลให้เกิดความผิดปกติ หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ กลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับอันตรายจากภาวะลมร้อน ได้แก่  1.) ผู้ที่ทำงานหรือมีกิจกรรมกลางแดด 2.) เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว  3.) ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง  4.) คนอ้วน  5.) ผู้ที่อดนอนโดยร่างกายของคนอ้วนและผู้ที่อดนอน จะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ และ 6.) ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยที่อยู่บริเวณใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้นส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ขณะเดียวกันแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้เกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้   และหากอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดต่อเนื่องร่างกายจะเริ่มส่งสัญญาณเตือนถึงอันตรายอยู่ 4 ระดับ คือ 1.) ทำให้ผิวหนังไหม้ 2.) เป็นตะคริว เนื่องจากสูญเสียน้ำและเกลือแร่ 3.) อาการเพลียแดด เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อลดลง จะมีอาการหน้าซีด ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืด ตาลาย และ 4.) เป็นลมร้อน (Heat Stroke) เนื่องจากได้รับความร้อนเป็นเวลานาน ตัวจะร้อนจัด สมองไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายได้ จะมีอาการสำคัญที่ต่างจากอาการเป็นลมแดดทั่วๆไปคือ ตัวร้อนจัด ผิวหนังจะแห้ง ไม่มีเหงื่อออก มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่นเดินเซ กระสับกระส่าย หมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ช็อค หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เสียชีวิตได้ การช่วยเหลือผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยจากภาวะลมร้อน ให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น คลายชุดชั้นในและถอดเสื้อผ้าออกให้เหลือน้อยชิ้น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อนหรือใช้น้ำเย็นราดตัว เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลง และรีบส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด  

     การป้องกันอันตรายจากโรคลมร้อน  ในช่วงที่มีอากาศร้อน แนะนำให้สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี ควรอยู่ภายในบ้าน เช่นใต้ถุนบ้าน หรืออยู่ใต้ร่มไม้ ลดกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้ง สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง ควรดื่มน้ำมากกว่าปกติ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแจ้ง ส่วนผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกออกกำลังกายในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนทุกครั้ง  ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 

 

********************************************
เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงฯ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น
วันที่  27 มีนาคม 2566


ข่าวสารอื่นๆ