สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

สคร.7 จ.ขอนแก่น เตือนประชาชนงดกินเมนูหมูดิบ เสี่ยงโรคไข้หูดับ อาจเสียชีวิตได้ เผยในพื้นที่พบผู้ป่วยแล้ว 13 ราย เสียชีวิต 2 ราย พร้อมแนะวิธีป้องกัน

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่งดกินเนื้อหมู รวมทั้งเครื่องในหมู ดิบ หรือปรุงสุกๆดิบๆ เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับอาจทำให้หูหนวกถาวร และเสียชีวิตได้ พร้อมเปิดเผยสถานการณ์ถึงโรคไข้หูดับในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 พบผู้ป่วยแล้ว 13 ราย เสียชีวิต 2 ราย

นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับเพิ่มขึ้น เนื่องจากวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร รวมทั้งกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการนำเสนอคอนเทนต์การกินเมนูเนื้อหมู รวมทั้งเครื่องในหมู ดิบ หรือ ปรุงสุกๆดิบๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น เมนูก้อยหมูดิบ ลาบเลือดหมูดิบ ซอยจุ๊เนื้อหมูดิบ เป็นต้น จึงขอแจ้งเตือนไปยังประชาชนถึงอันตรายจากการรับประทานเนื้อหมู รวมทั้งเครื่องในหมู ดิบ หรือ ปรุงสุกๆดิบๆ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยด้วยโรคไข้หูดับ อาจทำให้หูหนวกถาวร และเสียชีวิตได้

โดยสถานการณ์โรคไข้หูดับในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด (เขตสุขภาพที่ 7) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 5 สิงหาคม 2566 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้หูดับ จำนวนทั้งสิ้น 13 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยพบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง(เพศชาย 11 ราย เพศหญิง 2 ราย)  กลุ่มอายุที่พบสูงสุด ได้แก่ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป (อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 1.07) รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55 - 64 ปี (อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเท่ากับ  0.67) และ กลุ่มอายุ 45 - 54  ปี (อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 0.35) ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร และ มีประวัติการรับประทานเนื้อหมู รวมทั้งเครื่องในหมู ดิบ หรือ ปรุงสุกๆดิบๆ

โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตร็พโตค็อคคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้พบในทางเดินหายใจและในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อสู่คนได้ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา หรือ การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ และการรับประทานเนื้อหมู รวมทั้งเครื่องในหมู ดิบ หรือปรุงสุกๆดิบๆ เช่น ก้อยหมูดิบ ลาบเลือดหมูดิบ ลู่ ซอยจุ๊เนื้อหมูดิบ แหนมหมูดิบ เป็นต้น

นายแพทย์สมาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรคไข้หูดับจะมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดตามข้อ มีจ้ำเลือดตามตัว ตามผิวหนัง ซึม คอแข็ง ชัก และเมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง และกระแสเลือด จะทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบได้ เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อสามารถลุกลามทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว ทำให้ผู้ป่วยหูตึงไปจนถึงหูหนวก ซึ่งกว่าร้อยละ 40 ของผู้ป่วยจะสูญเสียการได้ยินถาวร อาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้

แนะนำ 5 วิธีป้องกันโรคไข้หูดับ

  1. ไม่รับประทานเนื้อหมู รวมทั้งเครื่องในหมู ดิบ หรือปรุงสุกๆดิบๆ
  2. เลือกบริโภคเนื้อหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน ไม่รับประทานหมูที่ป่วย หรือ หมูที่ตายจากโรค
  3. ควรแยกภาชนะและอุปกรณ์สำหรับอาหารดิบและสุกออกจากกัน เช่น เขียง จาน ตะเกียบ ช้อน ส้อม เป็นต้น รวมทั้งไม่ควรใช้เขียงที่หั่นเนื้อหมูดิบ ในการหั่นผักที่ใช้ทานสดๆ เนื่องจากอาจปนเปื้อนเชื้อดังกล่าว
  4. ผู้ที่เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรใส่เสื้อผ้าปกปิดมิดชิด ใส่รองเท้าและถุงมือทุกครั้งเมื่อเข้าไปทำงานที่สัมผัสกับหมูหรือเนื้อหมู หลีกเลี่ยงการจับหมูที่ตายด้วยมือเปล่า และล้างมือทุกครั้งหลังการสัมผัส หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด เพื่อป้องกันการสัมผัสโรคจากหมูที่ป่วย
  5. ผู้ที่จำหน่าย ควรรับเนื้อหมูมาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน เก็บเนื้อหมูที่จะขายในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 10°C และทำความสะอาดแผงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกวันหลังเลิกขาย

ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังรับประทานเนื้อหมู รวมทั้งเครื่องในหมู ดิบ หรือ ปรุงสุกๆดิบๆ หรือหลังสัมผัสหมูที่ป่วย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการรับประทานอาหาร หรือการสัมผัสให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง และรวดเร็ว จะช่วยลดอัตราการสูญเสียการได้ยินถาวร และลดการเสียชีวิตได้

 

 

***************************************************
ข้อมูล : กลุ่มระบาดวิทยาฯ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น
ข่าว : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงฯ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น
วันที่ 11 สิงหาคม 2566

 


ข่าวสารอื่นๆ