สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

หมอเตือน ผู้ปกครองระวังเด็กจมน้ำช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ชวนบ้าน-ชุมชนเร่งจัดการแหล่งน้ำก่อนสูญเสีย

การจมน้ำ ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่ง ในเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 904 คน ต่อปี หรือวันละ 2.5 คน  และในช่วงเดือน มีนาคม – พฤษภาคม เป็นเดือนที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เพราะตรงกับช่วงปิดเทอมและอยู่ในฤดูร้อน

นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น  กล่าวว่า ในช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไปเป็นช่วงปิดเทอมและเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งจะพบอุบัติการณ์เด็กจมน้ำเสียชีวิตตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ในปี 2566 ประเทศไทยพบรายงานผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำทุกกลุ่มอายุ  891 ราย ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 287 ราย สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์) มีรายงานอุบัติการณ์ทั้งสิ้น 49 เหตุการณ์ เสียชีวิตทุกกลุ่มอายุ  57 ราย พบเป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 27 ราย สถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ได้แก่สระน้ำ ฝาย คลอง หนองน้ำ อ่างเก็บน้ำ บ่อน้ำ ช่วงเวลาที่เกิดเหตุสูงสุดคือช่วง 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น จากข้อมูลปี 2561-2566 พบว่าผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการจมน้ำส่วนใหญ่ เกิดเหตุในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ช่วงฤดูน้ำหลากเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และช่วงปิดเทอมฤดูหนาว เดือนตุลาคม - พฤศจิกายน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมการลงเล่นน้ำ หรือพลัดตกลงไปในแหล่งน้ำแล้วขาดทักษะในการว่ายน้ำและการเอาชีวิตรอด ผู้เสียชีวิตไม่สวมใส่เสื้อชูชีพหรืออุปกรณ์ช่วยลอยตัว ขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครอง แหล่งน้ำที่เป็นแหล่งเสี่ยงตามธรรมชาติที่อยู่ในชุมชน ส่วนใหญ่ไม่มีการจัดการให้เกิดความปลอดภัย เช่น การกั้นรั้ว การปักป้ายเตือน การติดตั้งอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉิน  ขาดทักษะในการช่วยชีวิตที่ถูกต้อง อักทั้งการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุล่าช้า

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น จึงขอประชาสัมพันธ์ เชิญชวนทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกับชุมชนในการจัดการกับความเสี่ยงนี้ เพื่อป้องกันความสูญเสียของลูกหลาน โดยเริ่มจาก       1.) สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน อาทิ คลองชลประทาน ฝายกั้นน้ำ หนองน้ำ บ่อน้ำสาธารณะ และจัดการป้องกันความเสี่ยงเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น ล้อมรั้ว ติดป้ายคำเตือน การปักธงสัญลักษณ์แสดงพื้นที่อันตราย จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉินไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง อาทิ ไม้ ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ขวดน้ำพลาสติกปิดฝา เป็นต้น 2.) เฝ้าระวังและแจ้งเตือนในชุมชน ได้แก่ ประกาศเสียงตามสาย คอยตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง กำชับให้ผู้ปกครองเพิ่มความตระหนักในการดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด 3.) สอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น การฝึกทักษะในการว่ายน้ำและการเอาชีวิตรอด  สำหรับผู้ปกครองควรเตือนเด็กและสอนให้เด็กเรียนรู้กฎความปลอดภัยทางน้ำ เช่น ไม่เล่นใกล้แหล่งน้ำ รู้จักประเมินแหล่งน้ำ เช่น ความลึก ความตื้น และกระแสน้ำ  และหากตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ แต่ขอให้ช่วยด้วยการ “ตะโกน โยน ยื่น” ตะโกน คือ การเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669  โยน อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆชิ้น และ ยื่น อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงเข้าหาฝั่ง

เพื่อสร้างความปลอดภัยไม่ให้เด็กไทยจมน้ำเสียชีวิต จึงควรส่งเสริมทักษะที่จำเป็นทางน้ำและสร้างมาตรการที่เข้มข้นสำหรับเด็กในชุมชนเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มักได้รับผลกระทบรุนแรง   ควรสร้างกิจกรรมการรับรู้ที่ถูกต้อง มีส่วนร่วมและสร้างความตระหนักแก่เด็ก เช่น การสื่อสารประชาสัมพันธ์ทางหอกระจายข่าว การมีกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมทั้งเด็กและผู้ปกครองในการสำรวจแผนที่ชุมชน ค้นหาแหล่งปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ แหล่งน้ำลึก  เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาสะท้อนกลับสู่ชุมชน และนำมาร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหาเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันความสูญเสียต่อไป ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

**  "บ้านเริ่ม ชุมชนร่วม ป้องกันเด็กจมน้ำ **

 

 

************************************

ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค
เผยแพร่ :  กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ / กลุ่มโรคไม่ติดต่อ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จังหวัดขอนแก่น


ข่าวสารอื่นๆ