สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ
Responsive image

แจ้งเตือนเหตุการณ์โรคไข้หวัดนกในคน ประเทศเวียดนาม ณ วันที่ 6 เม.ย. 2567

แจ้งเตือนเหตุการณ์โรคไข้หวัดนกในคน ประเทศเวียดนาม ณ วันที่ 6 เม.ย. 2567

แหล่งข้อมูล: BlueDot ภายใต้ ASEAN Health Cluster 2
ถอดความโดย: สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค

ในวันที่ 6 เม.ย. 2567 ณ เมืองเตี่ยนยาง (Tien Giang) ทางตอนใต้ของเวียดนามได้รายงานผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนก A(H9Nx) (สายพันธุ์ย่อยรอการยืนยัน) ครั้งแรกในประเทศ

ข้อมูลระบาดวิทยา:
ผู้ป่วยชายอายุ 37 ปี มีโรคประจำตัว เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการปอดอักเสบรุนแรงและระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ขณะนี้ยังอยู่ในสภาพวิกฤต ผู้ป่วยพักอาศัยในอำเภอ Chau Thanh อยู่ใกล้ตลาดค้าสัตว์ปีกและมีการเลี้ยงห่านที่บ้านพักของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานความผิดปกติใดๆ ในสัตว์ปีกในพื้นที่โดยรอบ ขณะนี้กำลังดำเนินการสอบสวนแหล่งที่มาเพิ่มเติม มีสมาชิกในครอบครัวอย่างน้อย 7 คนที่สัมผัสใกล้ชิด ทุกคนยังไม่มีอาการป่วย ขณะนี้ทั้ง 7 คนรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด  

ลำดับเหตุการณ์:
10 มี.ค. 2567: ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ คล้ายไข้หวัด ต่อมามีอาการเจ็บและบวมที่ช่องท้อง

16 มี.ค. 2567: ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทหารและถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลโรคเขตร้อน HCMC เพื่อรับการรักษาเพิ่มเติม

16 มี.ค.2567: อาการของผู้ป่วยทรุดหนักขณะได้รับการรักษาโรคตับแข็ง และมีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมพบติดเชื้อ influenza ชนิด A (ไม่สามารถระบุสายพันธุ์ได้จากการตรวจสอบเบื้องต้น)

1 เม.ย. 2567: สถาบันปาสเตอร์ในเมืองโฮจิมินห์ได้ทำการตรวจยืนยัน พบเชื้อ influenza ชนิด A สายพันธุ์ย่อย H9 ขณะที่ผู้ป่วยยังคงได้รับการรักษาอยู่ใน ICU

6 เม.ย. 2567: กระทรวงสาธารณสุขของเวียดนาม ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางลงไปที่พื้นที่เพื่อช่วยเหลือในการจัดการการระบาด

การประเมินความเสี่ยง: 
1. ความน่ากังวลของการระบาดยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนักทั้งในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค แต่เพิ่มสูงมากขึ้นในบุคคลที่มีการสัมผัสกับสัตว์ปีกและสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อเป็นเวลานาน

2. เชื้อสาเหตุคาดว่าเป็นเชื้อไข้หวัดนก A(H9N2) ซึ่งจะเป็นรายงานการติดต่อสู่คนครั้งแรกของเวียดนาม แต่ประเทศใกล้เคียง (กัมพูชาและจีน) เคยรายงานผู้ป่วยติดเชื้อดังกล่าวมาก่อน และเชื้อดังกล่าวมีการแพร่ระบาดในสัตว์ปีกในทวีปเอเชีย ซึ่งการติดเชื้อในคนส่วนใหญ่จะแสดงเพียงอาการเล็กน้อย อาการทั่วไปเข้าได้กับการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนอื่นๆ ที่แสดงอาการเพียงเล็กน้อย มีเพียงไม่กี่รายที่เสียชีวิตมักพบในคนที่มีโรคประจำตัว การตรวจจับเชื้อดังกล่าวเพื่อนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีนั้น จะเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

3. ประเทศเวียดนามได้ตอบโต้การระบาดโดยเน้นการประสานงานกันทั้งในหน่วยงานสาธารณสุขและปศุสัตว์ อีกทั้งยังร่วมกันสื่อสารความเสี่ยงที่มีเนื้อหาสอดคล้องกัน และสื่อสารไปยังประชาชนได้อย่างทันท่วงที

4. ณ ปัจจุบัน ยังไม่พบหลักฐานของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกระหว่างคนสู่คน ที่ส่งผลให้เกิดการระบาดในคนอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องจับตาดูเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพราะเชื้อไวรัส Influenza A(H9N2) อาจจะแลกเปลี่ยนพันธุกรรมกับเชื้อไวรัส influenza ชนิดอื่นๆ และกลายพันธุ์เป็นเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ได


ข่าวสารอื่นๆ