สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

เตือน!! น้ำท่วมขัง เดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือแช่น้ำนาน ระวังโรคฉี่หนู

         สคร.9 นครราชสีมา เตือนประชาชน ในช่วงนี้หลายพื้นที่เริ่มมีพายุฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกบางแห่ง อาจมีน้ำท่วมขังจนทำให้มีการแพร่ระบาดของ “โรคฉี่หนู” หรือ “โรคเลปโตสไปโรสิส” เนื่องจากเชื้อโรคจะปนเปื้อนมากับน้ำ ดังนั้น ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน เพราะอาจติดเชื้อโรคฉี่หนูได้ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูทป้องกัน หากไม่มีรองเท้าบูท สามารถนำถุงพลาสติกที่สะอาดมาสวมเพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง เมื่อลุยน้ำเสร็จให้รีบล้างมือล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำโดยเร็ว

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน หลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกและทำให้มีน้ำท่วมขังตามท้องไร่ท้องนา หรือบนท้องถนน ประชาชนควรระมัดระวังโรคเลปโตสไปโรสิส หรือโรคฉี่หนูเป็นพิเศษ เนื่องจากการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคฉี่หนูได้ง่าย เนื่องจากโรคฉี่หนูเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า เชื้อเลปโตสไปร่า

         เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือเข้าทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งมักจะระบาดช่วงหน้าฝนและช่วงหลังน้ำลด ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อของโรคฉี่หนู คือ เกษตรกร ที่ต้องเดินลุยน้ำ มีน้ำขัง หรือพื้นดินชื้นแฉะที่มีโอกาสปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ได้แก่ วัว ควาย หมู หมา แพะ หนู รวมทั้งผู้ที่ทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์/โรงฆ่าสัตว์/ผู้ที่ชำแหละสัตว์ที่มีเชื้อโรคฉี่หนู ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคนี้ รวมทั้งการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ อาการของโรคฉี่หนูเริ่มจากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว และปวดมากโดยเฉพาะที่น่องและโคนขา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตาแดง เป็นต้น หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย แพทย์จะได้ทำการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคตามอาการ และความรุนแรงของโรค

         สถานการณ์โรคฉี่หนูในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 มิถุนายน 2567 มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 68 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม จำนวน 2 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 26 ราย เสียชีวิต 1 ราย 2) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 18 ราย 3) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 13 ราย เสียชีวิต 1 ราย และ 4) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 11 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี และ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 45-54 ปี และกลุ่มอายุ 34-44 ปี ตามลำดับ อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ อาชีพเกษตรกรรม

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน แนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคฉี่หนู มีดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูทหรือนำถุงพลาสติกที่สะอาด มาสวมเพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผลควรปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ 2.ล้างมือ ล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ 3.หลีกเลี่ยงการกินอาหารค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปิด เพราะอาจติดเชื้อโรคจากหนูและสัตว์นำโรคอื่นๆ 4.หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ