สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

สคร.9 เผยโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่ม เน้นย้ำประชาชนดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด

         สคร.9 นครราชสีมา เผยสถานการณ์โรคโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่ในช่วงนี้ ยังคงมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่พบมากเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียน เรือนจำ ค่ายทหาร วัด และโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมเน้นย้ำกลุ่มผู้สูงอายุ ควรรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เพื่อลดอาการรุนแรง ส่วนประชาชนทั่วไปขอให้ป้องกันตนเอง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดที่มีคนรวมตัวจำนวนมาก หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

         โดยสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 มิถุนายน 2567 มีผู้ป่วยสะสม 29,354 ราย เสียชีวิตสะสม 12 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้  1) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 13,636 ราย เสียชีวิตสะสม 3 ราย 2) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 7,090 ราย เสียชีวิตสะสม 8 ราย 3) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 4,694 ราย 4) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 3,934 ราย เสียชีวิตสะสม 1 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 25-34 ปี และกลุ่มอายุ 35-44 ปี ตามลำดับ

         ส่วนสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 มิถุนายน 2567 มีผู้ป่วยสะสม 16,626 ราย เสียชีวิตสะสม 5 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 9,163 เสียชีวิตสะสม 4 ราย 2) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 3,019 ราย เสียชีวิตสะสม 1 ราย 3) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 2,438 ราย 4) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 2,006 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี และกลุ่มอายุ 25-34 ปี ตามลำดับ

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันควบคุมโรค ขอเน้นย้ำมาตรการดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ได้แก่ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยเมื่อสงสัยป่วย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ จะสามารถช่วยลดการแพร่เชื้อโรคโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่ได้ ประชาชนควรดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หรือสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น รถขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ หากมีอาการสงสัยป่วยควรตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย ATK ถ้าผลตรวจเป็นบวก ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และโดยเฉพาะกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หากป่วยอาจมีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ควรปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด อย่างน้อย 5 วัน หรือตามคำแนะนำของแพทย์ หากอาการไม่ดีขึ้นในระยะเวลา 1-2 วันให้รีบไปพบแพทย์ และสำหรับกลุ่มเสี่ยง 608 ควรรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกๆ ปี เป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ