สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ สงกรานต์นี้ สคร.9 ขอเชิญชวน "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ" กลับถึงบ้านปลอดภัย

         เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มีวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายวัน จึงทำให้มีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา และไปท่องเที่ยวพักผ่อนในวันหยุดมากขึ้น ส่งผลให้การจราจรหนาแน่น อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้ โดยสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มาจากการดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัยและเข็มขัดนิรภัย ขับรถด้วยความประมาท เป็นต้น สคร.9 นครราชสีมา ห่วงใยประชาชน เตือนสงกรานต์นี้ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เพื่อความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมทาง

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงเทศกาลสงกรานต์ว่าเป็นช่วงวันหยุดยาว ทำให้ประชาชนเดินทางกลับบภูมิลำเนา ไปท่องเที่ยวและพักผ่อนกับครอบครัวเป็นจำนวนมาก จึงฝากเตือนให้ปฏิบัติตามกฎ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ตามคำขวัญ 3 ม. คือ “สวมหมวก ใส่แมส ไม่เมา” คือ 1.สวมหมวกนิรภัย หรือหมวกกันน็อคทุกครั้งที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ และ 2.ใส่แมส ตลอดเวลา เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโควิดทุกสายพันธุ์ 3.ไม่เมา คือ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและการเสียชีวิตที่อาจเกิดขึ้นได้

         จากสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ของเขตสุขภาพที่ 9 ปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 1,749 ราย มีผู้บาดเจ็บที่นอนโรงพยาบาล จำนวน 304 ราย มีผู้เสียชีวิตรวม 44 ราย (เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 15 ราย) คิดเป็นร้อยละ 60.00 สามารถแยกเป็นรายจังหวัดได้ ดังนี้

         1) จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดคือ จ.นครราชสีมา มีผู้บาดเจ็บที่นอนโรงพยาบาล 90 ราย เสียชีวิต 25 ราย

         2) จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้บาดเจ็บที่นอนโรงพยาบาล 105 ราย เสียชีวิต 9 ราย

         3) จังหวัดสุรินทร์ มีผู้บาดเจ็บที่นอนโรงพยาบาล 90 ราย เสียชีวิต 6 ราย

         4) จังหวัดชัยภูมิ มีผู้บาดเจ็บที่นอนโรงพยาบาล 19 ราย เสียชีวิต 4 ราย

         ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ ผู้ประสบอุบัติเหตุส่วนใหญ่เพศชาย ร้อยละ 68.3 พบในกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี ร้อยละ 15.4 ยานพาหนะที่ก่อเหตุส่วนใหญ่ คือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 68.9 ปัจจัยเสี่ยงที่พบมากที่สุดคือ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 85.1 และดื่มแล้วขับ ร้อยละ 32.7 ซึ่งยังพบมีการดื่มแล้วขับในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 12.39 ช่วงเวลาเกิดอุบัติเหตุ คือ 18.00-18.59 น. และ 17.00 - 17.59 น. รองลงมาคือ 10.00 – 10.59 น. ถนนที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.3

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามกฎ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” รวมถึงห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามดื่มและห้ามขาย เช่น วัดหรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สถานที่บริการสาธารณสุขของรัฐ สถานที่ราชการ สถานศึกษา ปั๊มน้ำมัน สวนสาธารณะของทางราชการที่จัดไว้เพื่อการพักผ่อนของประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ประกอบการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาอื่น นอกจากตั้งแต่เวลา 11.00 น. - 14.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00 น. - 24.00 น. หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 


ข่าวสารอื่นๆ