ในช่วงนี้พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับทั้งจากกินหมูดิบ ลาบเลือดดิบ ก้อยดิบ และดื่มสุราร่วมกับกินอาหารสุกๆดิบๆ รวมไปถึงพ่อครัวแม่ครัว ผู้ปรุงอาหารที่มีบาดแผลแล้วไปสัมผัสเนื้อหมูหรือเลือดหมูดิบๆ ที่มีเชื้อ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้ สคร.9 เตือนประชาชน อย่ากินหมูดิบ หรือลาบเลือดดิบๆ รวมไปถึงอาหารปิ้งย่าง ควรมีอุปกรณ์คีบเนื้อหมูสุกและเนื้อหมูดิบแยกจากกัน ไม่ควรใช้ตะเกียบคีบหมูดิบ แล้วนำมารับประทาน เพราะหากติดเชื้อโรคไข้หูดับแล้วอาจทำให้สูญเสียการได้ยินหรือที่เรียกว่าหูดับ จนถึงขั้น หูหนวกถาวรได้
สถานการณ์โรคไข้หูดับในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 กรกฎาคม 2566 พบผู้ป่วยโรคไข้ หูดับ 314 ราย มีผู้เสียชีวิต 13 ราย ที่ จ.น่าน 1 ราย จ.ตาก 2 ราย จ.อุตรดิตถ์ 2 ราย จ.กำแพงเพชร 1 ราย จ.อุทัยธานี 1 ราย จ.สมุทรสาคร 1 ราย จ.มหาสารคาม 2 ราย จ.หนองคาย 1 ราย และ จ.นครราชสีมา 2 ราย
สถานการณ์โรคหูดับ ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 29 กรกฎาคม 2566 พบผู้ป่วยโรค ไข้หูดับจำนวน 73 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย (นครราชสีมา) ผู้ป่วยแยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้
1) จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 58 ราย
2) จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 3 ราย
3) จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 9 ราย
4) จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 3 ราย
อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ รับจ้าง ร้อยละ 34.25 รองลงมาคือ เกษตรกร ร้อยละ 28.77 และทำงานบ้าน ร้อยละ 12.33 ตามลำดับ
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า การป้องกันโรคไข้หูดับ คือ ขอให้ประชาชนรับประทานเนื้อหมูอย่างถูกวิธี ดังนี้
1.รับประทานเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น โดยปรุงให้สุกผ่านความร้อนมากกว่า 70 องศาเซลเซียส
2.อาหารปิ้งย่าง ควรใช้อุปกรณ์ในการคีบเนื้อหมูดิบและเนื้อหมูสุกแยกจากกัน และขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”
3. ไม่ควรรับประทานเนื้อหมูดิบร่วมกับการดื่มสุรา
4. เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มาของหมู
5. ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422