สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

วัดความดันอย่างไร สูงเกินไปคุมให้ดี ช่วยยืดชีวีให้ยืนยาว” 17 พฤษภาคม วันความดันโลหิตสูงโลก

         โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่มีความสำคัญมาก ถือเป็น “ฆาตกรเงียบ” เนื่องจากผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการ อาจตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปตรวจรักษาโรคอย่างอื่นจนทำให้หลายคนต้องเสียชีวิตจากโรคนี้สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) จึงกำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก โดยปีนี้ ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ คือ "Measure Your Blood Pressure Accurately, Control It, Live Longer: วัดความดันอย่างไร สูงเกินไปคุมให้ดี ช่วยยืดชีวีให้ยืนยาว”

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคความดันโลหิตสูงว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่ความดันโลหิตสูงกว่าปกติ เท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งค่าความดันโลหิตของคนปกติคือ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ มักจะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น แต่สามารถตรวจวินิจฉัย ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์อัมพาต หากได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต พร้อมติดตามวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดียิ่งขึ้น และลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้เป็นอย่างดี

         สถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงในประเทศไทย จากฐานข้อมูลสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 6.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 3 แสนคน ส่วนในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยจากโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ จำนวน 507,104 คน

          สถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงในเขตสุขภาพที่ 9 พบว่าในปี 2566 มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 93,347 คน และเพียง 6 เดือน ในปี 2567 เขตสุขภาพที่ 9 พบผู้ป่วยรายใหม่แล้ว 62,000 คน

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า วิธีป้องกันและรักษาโรคความดันโลหิตสูงทำได้โดย   1) งดทานอาหารรสเค็มหรือมีโซเดียมสูง โดยคนทั่วไปที่ไม่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงไม่ควรทานโซเดียมเกิน 2000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ถ้าป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วไม่ควรเกิน 1500 มิลลิกรัมต่อวัน  2) ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์  3) ลดความอ้วน ให้ค่า BMI ไม่เกิน 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร สำหรับผู้ที่ความดันสูงมากหรือคนที่ปรับพฤติกรรมแล้ว แต่ความดันยังเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท จำเป็นต้องพบแพทย์และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอถึงแม้จะไม่มีอาการ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมากและทำให้เสียชีวิตได้

         สำหรับวิธีวัดความดันโลหิตที่ถูกต้องคือวัดความดันโลหิตในช่วงเช้าภายใน 1 ชั่วโมง หลังตื่นนอน หรือหลังปัสสาวะแล้ว วัดความดันจำนวน 2 ครั้ง ให้ห่างกันครั้งละ 1 นาที วัดช่วงเวลาก่อนเข้านอนโดยวัดความดัน 2 ครั้ง ให้ห่างกันครั้งละ 1 นาที นั่งเก้าอี้ให้หลังพิงพนักเพื่อไม่ให้หลังเกร็ง เท้าทั้ง 2 ข้าง วางราบกับพื้นให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย วัดความดันโลหิตในแขนข้างที่ไม่ถนัด หรือข้างที่มีความดันโลหิตสูงกว่า โดยวางแขนให้อยู่ในระดับเดียวกันกับหัวใจ ขณะวัดความดันโลหิตไม่กำมือ ไม่พูดคุยหรือขยับตัว ทั้งนี้ ควรวัดความดันหลังจากนั่งพักอย่างน้อย 30 นาที และ 1 ชั่วโมง หลังรับประทานอาหาร ดื่มกาแฟ สูบบุหรี่ หรือ ออกกำลังกาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ