จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนภัยในช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนักและน้ำท่วม นอกจากนี้ขอให้ระวังอันตรายจากการบาดเจ็บ เช่น การตกน้ำ จมน้ำเสียชีวิต ไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า และขอให้ป้องกันตนเองจากโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจต่างๆ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด 19 โรคติดต่อทางการสัมผัส เช่น โรคมือเท้าปาก โรคฉี่หนู โรคติดต่อนำโดยยุงลาย เช่น โรคไข้เลือดออก อันตรายจากการกินเห็ดพิษ รวมทั้งอันตรายจากการถูกงูพิษกัด
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ในช่วงนี้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บางพื้นที่มีน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้บ้านเรือนเกิดความเสียหาย นอกจากอันตรายที่มาจากน้ำท่วมแล้ว ยังมีโรคและภัยสุขภาพที่มากับช่วงฤดูฝน ได้แก่ โรคติดต่อทางระบบหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด 19 โรคติดต่อจากการสัมผัส เช่น โรคมือ เท้า ปาก โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู โรคเมลิออยโดสิส หรือโรคไข้ดิน โรคติดต่อนำโดยยุงลาย เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา โรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมทั้งอันตรายจากภัยสุขภาพ เช่น การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า การตกน้ำ จมน้ำเสียชีวิต ไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต อันตรายจากการกินเห็ดพิษ และอันตรายจากการถูกงูพิษกัด คำแนะนำสำหรับการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม มีดังนี้
โรคและภัยสุขภาพ
1) โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 ขอให้ล้างมือบ่อยๆ และสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่ชุมชน ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรฉีดวัคซีนป้องกัน
2) โรคติดต่อทางการสัมผัส เช่น โรคมือ เท้า ปาก ขอให้ผู้ดูแลเด็กคัดกรองเด็กก่อนเข้าห้องเรียน หากมีตุ่มน้ำใสที่ฝ่ามือ ฝ้าเท้า กระพุ้งแก้ม ให้หยุดเรียนและทำความสะอาดห้องเรียน โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู โรคเมลิออยโดสิส หรือโรคไข้ดิน ขอให้หลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลน หรือทำงานในพื้นที่เปียกชื้น หากเลี่ยงไม่ได้ให้สวมรองเท้าบูท สวมใส่เสื้อผ้ามิดชิดขณะทำงานเพื่อป้องกันเชื้อโรค
3) โรคติดต่อนำโดยยุงลาย เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ให้ยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
ภัยสุขภาพ
1) การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า หลีกเลี่ยงอยู่กลางแจ้งในขณะฝนตกฟ้าคะนอง ควรหลบในตัวอาคารที่ติดตั้งสายล่อฟ้า จะช่วยป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าได้ ไม่ควรใช้โทรศัพท์ และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด
2) อันตรายจากการกินเห็ดพิษ ยึดหลัก “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน” หากมีอาการผิดปกติหลังกินเห็ด รีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด พร้อมแจ้งประวัติการกินเห็ด และนำตัวอย่างเห็ดที่เหลือ หรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย
3) อันตรายจากการถูกงูพิษกัด รวมทั้ง ตะขาบ แมงป่อง ที่อาจหนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามบ้านและมุมมืดต่างๆ สอดส่องและสังเกตมุมอับของบ้านเป็นประจำ สำรวจเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรแต่งตัวให้มิดชิด และสวมรองเท้าบูททุกครั้ง ป้องกันสัตว์มีพิษที่อยู่น้ำกัดต่อย
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ขอให้ติดตามข้อมูลหากพบคนถูกไฟฟ้าดูด ให้ตัดกระแสไฟในที่เกิดเหตุทันที ห้ามสัมผัสตัวผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดด้วยมือเปล่า ให้ใช้ถุงมือยาง ผ้าแห้ง หรือพลาสติกแห้ง เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุออกจากพื้นที่ หากผู้ประสบภัยหมดสติ ควรทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ในบริเวณพื้นที่แห้ง และโทร.แจ้ง 1669 ทีมแพทย์ฉุกเฉินทันที หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร