โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีอาการคล้าย โรคไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่อาการของผู้ป่วยจะไม่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต โรคนี้มาจากภาษาสวาฮิลี ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของทวีปแอฟริกา หมายถึง เจ็บจนตัวงอ สะท้อนให้เห็นถึงอาการของผู้ป่วยที่เจ็บปวดตามข้อ ปวดข้อต่อ (ข้อนิ้ว ข้อเท้า เข่า) ปวดกระดูก โรคนี้ยังไม่มียารักษา แต่เป็นการรักษาตามอาการ ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และไดโคลฟีแนคมารับประทาน ในการป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ใช้หลักการเดียวกันกับโรคไข้เลือดออก คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ จะช่วยป้องกัน 3 โรคได้ในคราวเดียวกัน ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา โรคนี้มีอาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออก แต่ไม่รุนแรงเท่า เมื่อผู้ป่วยถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด ทำให้มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หรือปวดกระบอกตา คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย มีผื่นแดงตามตัว ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่ และอาการที่สำคัญคืออีกอย่างหนึ่งคือ ปวดข้อ ข้อบวมแดง ปวดกระดูก อาจพบอาการปวดกล้ามเนื้อด้วย อาการปวดข้อจะพบได้หลาย ๆ ข้อ เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก อาจพบจุดเลือดออกบริเวณผิวหนังได้ เมื่อมีอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง และขอแจ้งเตือนร้านยา และคลินิกห้ามใช้ยากลุ่ม NSAIDS ได้แก่ ไดโคลฟีแนค แอสไพลิน ไอบูโปรเฟน เพราะจะเพิ่มโอกาสให้เลือดออกตามเนื้อเยื่อต่างๆ ได้
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคไข้ปวดข้อยุงลาย แต่เป็นการรักษาตามอาการ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุง นอนกางมุ้งแม้ในเวลากลางวัน หรือใช้มุ้งชุบสารเคมี เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัดแล้วไปแพร่เชื้อต่อไป โดยยึดหลัก “3 เก็บป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้าน ให้สะอาด เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ บริเวณรอบบ้าน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภคต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ขัดขอบผิวภาชนะเหนือผิวน้ำที่อาจมีไข่ยุง เพื่อช่วยป้องกัน 3 โรค คือโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ขอให้ชุมชนรวมพลังจิตอาสาร่วมมือร่วมใจกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงไปพร้อมๆ กันเพื่อกำจัดยุงลายให้หมดสิ้นไปจากชุมชน หากมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422