สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

รณรงค์ “วันไข้เลือดออกอาเซียน” “อาเซียนร่วมใจ: สร้างอนาคตปลอดภัย ไม่ป่วยตายด้วยไข้เลือดออก”

รณรงค์ “วันไข้เลือดออกอาเซียน”

“อาเซียนร่วมใจ: สร้างอนาคตปลอดภัย ไม่ป่วยตายด้วยไข้เลือดออก”

 

สคร.9 นครราชสีมา ร่วมรณรงค์ “วันไข้เลือดออกอาเซียน” รุกใช้ 4 มาตรการหลัก เฝ้าระวังโรค ควบคุมยุงพาหะ วินิจฉัยรักษาเร็ว และสื่อสารลดความเสี่ยง ย้ำประชาชน หากมีอาการไข้สูงแล้วไม่ลดลงเกิน 2 วัน ให้รีบพบแพทย์ทันที ห้ามซื้อยาแอสไพรินและยากลุ่ม NSAID รับประทานเอง เสี่ยงเลือดออกจนเสียชีวิต

          นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคไข้เลือดออกว่า เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทย จึงมีการกำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” ภายใต้แนวคิด “อาเซียนร่วมใจ: สร้างอนาคตปลอดภัย ไม่ป่วยตายด้วยไข้เลือดออก” หรือ “ASEAN United: Zero Dengue Death,            a Future We Build Together”  แม้ที่ผ่านมา ประเทศไทยจะดำเนินการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง แต่การแก้ปัญหาให้ได้อย่างยั่งยืนถือเป็นสิ่งที่ท้าทายเพราะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในระดับชุมชนและภูมิภาค จึงจะลดความสูญเสียจากโรคไข้เลือดออกได้ ซึ่งไม่ควรมีใครเสียชีวิตจากโรคนี้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกผ่าน 4 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังโรคและยุงพาหะ 2.การตอบโต้และควบคุมยุงพาหะ 3.การวินิจฉัยรักษาที่รวดเร็ว และ 4.การสื่อสารความเสี่ยงเพื่อส่งเสริมความรู้แก่ประชาชน รวมถึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการติดตามการระบาด ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 4 มิถุนายน 2568 พบผู้ป่วยรวม 13,079 ราย อัตราป่วย 19.80 ต่อประชากรแสนคนเสียชีวิต 15 ราย

ส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 6 มิถุนายน 2568 มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 838 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยสะสม 329 ราย อัตราป่วย 12.60 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย 2) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วยสะสม 68 ราย อัตราป่วย 6.36 ต่อประชากรแสนคน 3) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วยสะสม 273 ราย อัตราป่วย 17.48 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย  และ 4) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วยสะสม 168 ราย อัตราป่วย 12.38 ต่อประชากรแสนคน และพบว่ากลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี และ 0-4 ปี

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ กรมควบคุมโรคได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานโรคไข้เลือดออกที่เข้มข้นขึ้น โดยให้มีผู้ป่วยไม่เกิน 70,000 ราย อัตราป่วยตายไม่เกินร้อยละ 0.09 โดยใช้ 4 มาตรการหลักและสนับสนุนให้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้จัดการโรคอย่างครอบคลุม เช่น ระบบพยากรณ์โรคและแจ้งเตือน ช่องทางด่วนสำหรับผู้ป่วยสงสัยในสถานพยาบาล ชุดตรวจวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็ว การขับเคลื่อน “โรงงานปลอดไข้เลือดออก” ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้ประชาชนสังเกตอาการตนเอง หากมีไข้สูงแล้วไข้ไม่ลดมากกว่า 2 วันให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ไม่ควรซื้อยากินเอง เช่น แอสไพริน ไอบูโบรเฟน  ซึ่งทำให้เลือดออกง่าย รักษาได้ยากและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต รวมทั้งป้องกันตนเองและบุคคลในครอบครัวจากการถูกยุงกัด เช่น ทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านทุกสัปดาห์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ