สคร.9 นครราชสีมา เตือนประชาชน ช่วงนี้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน อาจติดเชื้อโรคไข้ฉี่หนู หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูท หรือใช้ถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า เมื่อลุยน้ำย่ำโคลนเสร็จต้องรีบทำความสะอาดร่างกาย ล้างมือ ล้างเท้า ด้วยสบู่และน้ำสะอาดโดยเร็ว
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ และมีน้ำท่วมขัง ซึ่งอาจมีเชื้อโรคไข้ฉี่หนูปนเปื้อน หากประชาชนเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า อาจทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ โรคไข้ฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อเลปโตสไปรา ที่ปนออกมากับปัสสาวะของสัตว์นำโรค เช่น หนู สุกร โค กระบือ สุนัข เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน น้ำฝนจะชะล้างเชื้อจากปัสสาวะของสัตว์ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ไหลลงสู่แหล่งน้ำ หรือแอ่งน้ำขัง ดินโคลนที่ชื้นแฉะ เชื้อนี้สามารถไชเข้าทางผิวหนังที่อ่อนนุ่ม มีบาดแผล หรือผ่านทางเยื่อบุตา จมูก และปาก จากการที่ประชาชนลงแช่น้ำ ลุยน้ำ ย่ำดินโคลน โดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน หลังจากติดเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา ต่อมาอาจมีตาแดง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะออกน้อย ไอเป็นเลือด จนเสียชีวิตในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาหรือเข้ารับการรักษาล่าช้า ดังนั้น เมื่อเจ็บป่วยและสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำหรือย่ำโคลนให้แพทย์ทราบ เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาได้รวดเร็ว
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า คำแนะนำสำหรับประชาชนในการป้องกันโรคไข้ฉี่หนู มีดังนี้ 1) หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำที่ท่วมขังนานๆ เพราะอาจได้รับเชื้อไข้ฉี่หนูได้ 2) หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง เมื่อต้องสัมผัสน้ำที่ท่วมขัง ดินที่ชื้นแฉะ หรือทำความสะอาดบ้านเรือนหลังน้ำท่วม 3) หลังลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำท่วมขัง ให้รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที 4) หากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว หรือปวดกล้ามเนื้อ หลังลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำท่วมขัง 1-2 สัปดาห์ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดและแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบ เพื่อการตรวจรักษาที่รวดเร็วซึ่งช่วยลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
“ตรวจจับเร็ว ตอบโต้ทัน ป้องกันได้”
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร