ในช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้มีเห็ดป่า หรือเห็ดขึ้นเองตามธรรมชาติหลากหลายชนิด ประชาชนมักเก็บมาขายหรือนำมาปรุงประกอบอาหาร ซึ่งในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษเป็นประจำ เนื่องจากเห็ดป่าหรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมีทั้งเห็ดกินได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด สคร.9 ย้ำเตือนประชาชน ควรเลือกเห็ดจากแหล่งที่มีการเพาะพันธุ์เพื่อความปลอดภัย หากไม่แน่ใจ หรือสงสัยว่าเป็นเห็ดพิษหรือไม่ ไม่ควรนำมาปรุงอาหาร
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน มีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติหลากหลายชนิด มีทั้งเห็ดกินได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะภายนอกใกล้เคียงกันมากและแยกได้ยาก โดยเฉพาะเห็ดในระยะดอกตูมซึ่งมีลักษณะคล้ายกันจนไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่าหากไม่มีความรู้ความชำนาญ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดนำเห็ดพิษมาประกอบอาหารจนเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ อาการหลังกินเห็ดพิษมีตั้งแต่เล็กน้อย เช่น วิงเวียน อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว ไปจนถึงอาการรุนแรง ภาวะไตวายเฉียบพลัน ตับวาย และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ หากสงสัยว่ากินเห็ดพิษ ให้รีบรับประทานผงถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon) และจิบน้ำเกลือแร่ หรือน้ำเปล่าเพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป และรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที พร้อมนำตัวอย่างเห็ดที่เหลือหรือภาพถ่ายเห็ดติดตัวไปด้วย ห้ามกระตุ้นให้อาเจียนเองเด็ดขาด เพราะอาจเป็นอันตรายได้
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเก็บและกินเห็ดป่า หรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติที่ไม่รู้จัก หรือไม่แน่ใจว่ากินได้ ไม่เก็บเห็ดบริเวณที่มีการใช้สารเคมีเนื่องจากเห็ดจะดูดซับพิษจากสารเคมีมาไว้ในดอกเห็ด ไม่กินเห็ดดิบ เช่น เห็ดน้ำหมาก หรือกินเห็ดบางชนิดร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึก หรือเห็ดถั่วที่ขึ้นตามธรรมชาติ เพราะจะทำให้เกิดพิษได้ สำหรับภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนำไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะกลายเป็นสีดำนั้นไม่สามารถใช้ได้จริง และเห็ดพิษทุกชนิดไม่สามารถทำลายพิษได้ด้วยความร้อน ที่สำคัญ คือ “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน” หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
**ตรวจจับเร็ว ตอบโต้ทัน ป้องกันได้**
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร