สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

สคร.9 รณรงค์สัปดาห์ราชประชาสมาสัย พ.ศ. 2565 "โรคเรื้อนรักษาหาย รู้เร็วรักษาทัน ป้องกันการพิการได้"

สคร.9 นครราชสีมา รณรงค์สัปดาห์ราชประชาสมาสัย 2565

      “โรคเรื้อนรักษาหาย รู้เร็วรักษาทัน ป้องกันความพิการได้”    

       วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี เป็น “วันราชประชาสมาสัย” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงก่อตั้งสถาบันราชประชาสมาสัยเพื่อผลิตบุคลากร และค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อน พร้อมทั้งจัดให้มีสัปดาห์รณรงค์ค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ โดยในปี 2565 มีแนวคิดในการรณรงค์ คือ “โรคเรื้อนรักษาหาย      รู้เร็วรักษาทัน ป้องกันความพิการได้” หากมีอาการผิวหนังเป็นวงด่าง มึนชา หยิกไม่เจ็บ ผื่นหรือตุ่มนูนแดง ไม่คัน มากกว่า 3 เดือน ให้รีบไปพบแพทย์

       นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี  ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคเรื้อนว่า สามารถติดต่อได้โดยทางเดินหายใจ แต่ติดต่อได้ยาก ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโรคเรื้อน คือ ผู้ที่สัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรักษา แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องภายใน 7 วัน จะไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อีก โดยในวันที่ 16 มกราคม 2564 - 15 มกราคม 2566 สถาบันราชประชาสมาสัย ร่วมกับมูลนิธิราชประชาสมาสัย สนับสนุนค่าตอบแทนการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ โดยเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย และได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ จะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท เมื่อรักษาครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ จะได้รับเงินช่วยเหลืออีก 1,000 บาท 

      ในกรณีที่ อาสาสมัคร (อสม., ครู, นักเรียน, กำนัน, ผญบ., ผู้นำชุมชน, สมาชิก อบต., จนท.นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข, ญาติ, เพื่อนบ้าน, คนรู้จัก) เป็นผู้ค้นพบผู้ป่วยโรคเรื้อน และพาไปพบแพทย์ จะได้รับเงินช่วยเหลือ 1,000 บาท     ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อนจะได้รับเงินช่วยเหลือ 1,000 บาท เมื่อรักษาครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ได้รับการจำหน่ายออกจากทะเบียนรักษา จะได้รับเงินช่วยเหลืออีก 1,000 บาท

      นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี กล่าวต่อไปว่า หากประชาชนสงสัยว่าตนเองเป็นโรคเรื้อน มีอาการผิวหนังเป็นวงด่าง มึนชา หยิกไม่เจ็บ ผื่นหรือตุ่มนูนแดง ไม่คัน มากกว่า 3 เดือน ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อนเกิดความพิการ เพื่อการกำจัดโรคเรื้อนอย่างยั่งยืนต่อไป หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422


ข่าวสารอื่นๆ