สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

สคร.9 เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกยังน่าห่วง เน้นย้ำมาตรการป้องกัน และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นไข้สูงอย่าซื้อยากินเองอาจเสี่ยงเสียชีวิต

         สคร.9 นครราชสีมา เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในระยะนี้ มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูฝน มีภาชนะและแหล่งน้ำขังที่ยุงลายวางไข่เพิ่มขึ้น จึงขอเน้นย้ำให้ชุมชนร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค หากมีอาการป่วยไข้สูงเกิน 2 วัน สงสัยไข้เลือดออก ต้องไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคให้แน่ชัด อย่าซื้อยากินเอง อาจจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามการดำเนินงานโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง และเปิดประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ (EOC) ร่วมกับเครือข่ายส่วนกลางและภูมิภาคทุกสัปดาห์ โดยย้ำให้ดำเนินการกำจัดลูกน้ำยุงลายให้ครอบคลุมในพื้นที่ 7 ร. ได้แก่ 1.โรงเรือน (บ้าน/อาคาร) 2.โรงเรียน/สถานศึกษา 3.โรงพยาบาล 4.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์) 5.โรงแรม/รีสอร์ท 6.โรงงาน และ 7.ส่วนราชการ/องค์กรเอกชน ซึ่งโรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้โดยสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนกางมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด ทายากันยุงหรือจุดยาไล่ยุง จัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้ยุงลายมาวางไข่ หรือลูกน้ำในภาชนะเพื่อตัดวงจรไม่ให้ลูกน้ำกลายเป็นยุงตัวเต็มวัย แต่ถ้าหากถูกยุงกัดแล้วมีอาการไข้สูงอย่างรวดเร็วเฉียบพลัน ไข้ลดช้า ไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค

         สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ในสัปดาห์ที่ 35 คือ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31สิงหาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 73,979 ราย มีผู้เสียชีวิต 76 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือ 15-24 ปี  รองลงมาคือ 10-14 ปี และ 25-34 ปี

         สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตสุขภาพที่ 9 ในสัปดาห์ที่ 35 คือ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม -  31 สิงหาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 5,603 ราย อัตราป่วย 83.44 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.07 สามารถแยกสถานการณ์เป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จังหวัดสุรินทร์ พบผู้ป่วย 2,084 ราย อัตราป่วย 151.32 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย 2) จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วย 1,743 ราย อัตราป่วย 66.18 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย 3) จังหวัดชัยภูมิ พบผู้ป่วย 928 ราย อัตราป่วย 82.59 ต่อประชากรแสนคน 4) จังหวัดบุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 848 ราย อัตราป่วย 53.65 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือ อายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี และ 15-24 ปี ตามลำดับ

          นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้าน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บภาชนะกักเก็บน้ำ ให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เก็บขยะ ภายในบริเวณบ้านและโรงเรียน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จะป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ 3 โรคคือโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา หากประชาชนมีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง กระหายน้ำ หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด มีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือรับประทานยาหรือเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลด หรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ควรรีบไปพบแพทย์ หากสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


ข่าวสารอื่นๆ