จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนภัยในช่วงนี้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชน ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สคร.9 นครราชสีมาห่วงใยประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ขอให้ระมัดระวังภัยสุขภาพที่อาจทำให้เกิดอันตรายและได้รับบาดเจ็บ เช่น การจมน้ำ ไฟฟ้าดูด และจมน้ำเสียชีวิต
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงสภาพอากาศในช่วงนี้ว่ามีฝนตกในหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนระมัดระวังภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม ที่น่าห่วงคือ การจมน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบมากที่สุดในปีที่ผ่านมา ซึ่งในกลุ่มผู้ใหญ่ สาเหตุหลักที่พบ คือ พลัดตก ลื่น เรือล่ม/พลัดตกเรือ และออกหาปลา ส่วนกลุ่มเด็ก สาเหตุหลักที่พบ คือ การเล่นน้ำในพื้นที่น้ำท่วม รองลงมาคือ เดินลุยน้ำและถูกน้ำพัด รวมทั้งขอให้ประชาชนระมัดระวังไฟฟ้าดูดเสียชีวิต
จากสถานการณ์การจมน้ำเสียชีวิตในเขตสุขภาพที่ 9 ปี 2565 ที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิต จำนวน 105 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จังหวัดสุรินทร์ มีผู้เสียชีวิต 37 ราย 2) จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้เสียชีวิต 32 ราย 3) จังหวัดนครราชสีมา มีผู้เสียชีวิต 18 ราย และ 4) จังหวัดชัยภูมิ มีผู้เสียชีวิต 18 ราย
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า คำแนะนำเพื่อป้องกันการจมน้ำเสียชีวิตในช่วงน้ำท่วม ขอแนะนำให้ประชาชนยึดหลัก “4 ห้าม 4 ให้” โดย 4 ห้าม ได้แก่ 1.ห้ามหาปลาในช่วงน้ำไหลหลาก 2.ห้ามดื่มสุราแล้วลงเล่นน้ำ เนื่องจากจะเสี่ยงเกิดตะคริวได้สูง รวมทั้งหากเมาสุราจะทำให้เสียการทรงตัว และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 3.ห้ามเดินผ่านหรือขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม เพราะระดับน้ำเพียง 6 นิ้ว จะทำให้รถเสียหลักและล้มได้ และ 4.ห้ามเด็กเล็กลงเล่นน้ำ อาจพลัดตกหรือถูกน้ำพัดได้
สำหรับ 4 ให้ ได้แก่ 1) ให้อพยพไปยังพื้นที่สูง ให้รีบออกจากพื้นที่ในกรณีเกิดน้ำท่วม 2) ให้สวมเสื้อ ชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝาและผูกเชือก 3) ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันเวลาฉุกเฉิน และ 4) ให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร สภาพอากาศตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
ในการป้องกันไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต ในช่วงน้ำท่วมก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติดังนี้ 1) สับคัทเอาท์เพื่อตัดกระแสไฟ 2) ย้ายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและปลั๊กไฟขึ้นที่สูง 3) อย่าใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะร่างกายเปียกหรือยืนแช่น้ำอยู่ 4) หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟ เสาไฟ หากเกิดไฟฟ้ารั่ว จะมีกระแสไฟกระจายเป็นวงกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร อาจทำให้ถูกไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อตเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ขอให้ป้องกันสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่อาจหนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามบ้านและมุมมืดต่างๆ อีกด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422