ช่วงนี้ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในโรงเรียน เรือนจำ ค่ายทหาร ซึ่งมีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก สคร.9 นครราชสีมา มีความห่วงใย ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ โดยให้ยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แนะนำกลุ่มเสี่ยงควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 ประกอบกับมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียน ซึ่งมีเด็กนักเรียนอยู่รวมกันจำนวนมาก ตั้งแต่ต้นปี มีเหตุการณ์ระบาดทั้งสิ้น 39 เหตุการณ์ ซึ่งพบในโรงเรียน 18 เหตุการณ์ รองลงมาคือ เรือนจำ 13 เหตุการณ์ ค่ายทหาร 4 เหตุการณ์ วัด 3 เหตุการณ์ และที่พัก 1 เหตุการณ์ จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่เป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงพื้นที่ที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก เช่น สถานที่ทำงาน โรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในชุมชนเป็นวงกว้างต่อไป
โรคไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยได้รับเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น นอกจากนี้ยังแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และปวดศีรษะ
สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 11 กันยายน 2566 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 154,829 ราย อัตราป่วย 233.98 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 0-4 ปี ร้อยละ 18.19 รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี ร้อยละ 18.15 และกลุ่มอายุ 7-9 ปี ร้อยละ 14.85 ตามลำดับ
สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 กันยายน 2566 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จำนวน 14,975 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยสถานการณ์ 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา (สัปดาห์ที่ 29 – 36) พบผู้ป่วย 7,891 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 3,099 ราย จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 2,463 ราย จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 1,681 ราย และ จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 648 ราย พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 5-9 ปี อัตราป่วย 552.00 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี อัตราป่วย 502.86 ต่อประชากรแสนคน และกลุ่มอายุ 0-4 ปี อัตราป่วย 340.38 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยงควรไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมียและ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งรวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ 7.โรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร โดยใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่ 1.ปิด คือปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ควรใส่หน้ากากอนามัย 2.ล้าง คือล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได ราวบนรถโดยสาร ปุ่มกดลิฟต์ 3.เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ 4.หยุด คือเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422