สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

ตรุษจีนปลอดภัย ยึดหลัก “เลือก หลีก ล้าง ห่างไกลไข้หวัดนก”

         เทศกาลตรุษจีนที่ใกล้เข้ามาถึง ชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากจะเตรียมพิธีไหว้บรรพบุรุษ โดยนำของไหว้หลากหลายชนิดนำมาใช้ประกอบในพิธี เช่น เป็ด ไก่ ผลไม้ อาหารมงคลต่างๆ นำมาเป็นของไหว้ สคร.9 นครราชสีมา ห่วงใยประชาชน ระวังติดเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกโดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ โดยขอให้ยึดหลัก เลือก หลีก ล้าง เพื่อห่างไกลจากโรคไข้หวัดนก

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานแองกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกมาตั้งแต่ปี 2549 หรือเป็นเวลากว่า 16 ปีแล้ว โดยส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งล่าสุด เมื่อต้นเดือนมกราคม 2567 ประเทศกัมพูชายืนยันพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกเป็นรายแรกในรอบ 9 ปี โดยก่อนหน้านี้ปลายปี 2565 ที่ผ่านมาพบเด็กเสียชีวิตจากไข้หวัดนกที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งจากการติดตามการระบาดของโรคพบว่า ส่วนใหญ่ติดมาจากสัตว์ปีกที่มีเชื้อไข้หวัดนกมาก่อน แต่ก็ขอให้ประชาชนเฝ้าระวัง และป้องกันตนเองด้วย

         โดยโรคไข้หวัดนก เกิดจากเชื้อไวรัส เอเวียน อินฟลูเอนซ่า ไวรัส เชื้อที่ติดมาสู่คนมักจะเป็นไวรัสชนิด H5N1 สัตว์ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกมักจะแสดงอาการซึม ซูบผอม ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง ไข่ลด ไอ จาม หายใจลำบาก หน้าบวม หงอนและเหนียงบวม ตาปิดเนื่องจากหนังตาบวม ท้องเสีย  โรคไข้หวัดนก สามารถติดต่อสู่คนได้ ทั้งจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากสัตว์ปีกที่ป่วยโดยตรง เช่น อุจจาระ น้ำมูก น้ำลายของสัตว์ปีก หรือเกิดจากการสัมผัสสิ่งแวดล้อม พื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากสัตว์ปีกที่ป่วย 

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า เนื่องในเทศกาลตรุษจีนนี้ ขอให้ประชาชนเลือกซื้อเป็ด ไก่มาไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีน เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก ขอให้ยึดหลัก เลือก หลีก ล้าง ได้แก่
         เลือก เลือกซื้อ เป็ด ไก่ และไข่จากร้านที่สะอาดปลอดภัย และมีทะเบียนการค้าสัตว์ปีกที่ออกโดยกรมปศุสัตว์ และปรุงให้สุกก่อนนำมารับประทาน เนื่องจากเป็ด ไก่ที่ประชาชนเตรียมไว้ใช้ในพิธีไหว้ในช่วงตรุษจีนมักนิยมต้มแบบไม่ให้สุกมากนัก ดังนั้นก่อนจะนำมารับประทาน จึงควรนำมาปรุงให้สุกอีกครั้งหนึ่ง

         หลีก หลีกเลี่ยงนำสัตว์ปีกที่ป่วย มีอาการหงอย ซึม ขนยุ่ง หรือป่วยตายมาประกอบเป็นอาหาร ไม่ซื้อไก่และเป็ดที่มีอาการผิดปกติจากการติดเชื้อมาชำแหละขาย ขณะประกอบอาหารควรแยกเขียงสำหรับหั่นอาหารที่ปรุงสุกแล้ว หรือ ผัก ผลไม้ และเขียงหั่นเนื้อสดแยกออกจากกัน
         ล้าง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสสัตว์และสิ่งคัดหลั่งของสัตว์

         หากมีไก่ เป็ด หรือสัตว์ปีกที่ป่วย ตายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ รพ.สต กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศกาล หรือ อบต.ทันที และไม่จับซากสัตว์ด้วยมือเปล่าแต่ควรสวมถุงมือยาง หากไม่มีให้ใช้ถุงพลาสติกหนาๆ สวมมือ หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอหอบเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกป่วย-ตาย ให้สวมหน้ากากป้องกันโรค แล้วรีบไปพบแพทย์ หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


ข่าวสารอื่นๆ