ในช่วงนี้เป็นช่วงใกล้ปิดเทอม ทำให้มีเด็กหลายคนหยุดอยู่บ้าน ไม่มีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดเหมือนช่วงที่ไปโรงเรียน อีกทั้งสภาพอากาศเริ่มร้อน อาจทำให้เด็กชักชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำ เช่น ลำคลอง ฝายกักเก็บน้ำ หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทำให้ตกน้ำหรือจมน้ำเสียชีวิตได้ สคร.9 นครราชสีมา เตือนผู้ปกครองให้กำชับและดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ซึ่งแนวทางในการช่วยคนตกน้ำ หรือจมน้ำสำหรับเด็กเล็กนั้น ให้ยึดหลัก “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” ส่วนเด็กโต หรือผู้ใหญ่ที่ตกน้ำ ให้ยึดหลัก “ตะโกน โยน ยื่น”
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ในช่วงนี้โรงเรียนหลายแห่งใกลปิดภาคเรียนแล้ว สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อเด็กนักเรียนหยุดอยู่บ้าน อาจไม่มีผู้ดูแลเหมือนกับช่วงที่ไปโรงเรียน และอาจชักชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติแล้วเกิดพลัดตก ลื่น หรือจมน้ำเสียชีวิตได้ จึงฝากเตือนผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก ควรกำชับบุตรหลานไม่ปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำตามลำพัง เพราะหากคลาดสายตาเพียงเสี้ยววินาที เด็กอาจจมน้ำเสียชีวิตได้ ซึ่งแนวทางการป้องกันการจมน้ำสำหรับเด็กเล็ก และกลุ่มเด็กโต มีดังนี้
สำหรับเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี เน้นใช้มาตรการ “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” 1.อย่าเข้าใกล้ แหล่งน้ำ เพราะอาจลื่นพลัดตกลงไปในน้ำ หรือจมน้ำ 2.อย่าเก็บ สิ่งของที่ตกลงไปในน้ำด้วยตนเอง ต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยเก็บ 3.อย่าก้ม หรือชะโงกลงไปในแหล่งน้ำ ตุ่มน้ำ ถังน้ำ เพราะอาจหัวทิ่มลงไปในน้ำได้
ส่วนกลุ่มเด็กโต เน้นห้ามไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง หากพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจะถูกกอดรัดจากผู้ประสบภัย และอาจจมน้ำหรือเสียชีวิตไปพร้อมกัน ควรใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้ 1.ตะโกน: คือ เรียกให้คนมาช่วย และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 ทันทีหรือ รพ.ใกล้เคียง 2.โยน: คือ การโยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ 3.ยื่น: คือการยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ หากช่วยคนตกน้ำขึ้นมาจากน้ำแล้ว ต้องรีบแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 โดยเร็วที่สุด
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า หากเป็นไปได้ ผู้ปกครองควรสอนให้เด็กว่ายน้ำเป็น จะสามารถลดความเสี่ยงในการจมน้ำได้ เพราะหากเกิดเหตุตกน้ำหรือจมน้ำ เด็กที่ว่ายน้ำเป็นจะสามารถลอยตัวในน้ำเพื่อรอความช่วยเหลือ และเข้าใจจังหวะการหายใจที่ถูกต้องเมื่อร่างกายสัมผัสกับน้ำอย่างกระทันหัน และขอฝากไปยังหน่วยงานในท้องถิ่น หรือผู้นำชุมชน รวมไปถึงผู้ดูแลสถานที่ท่องเที่ยวที่มีแหล่งน้ำ ควรจัดการสิ่งแวดล้อมบริเวณที่เป็นแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการตกน้ำ หรือจมน้ำ เช่น จัดหาอุปกรณ์ ลอยน้ำ รวมถึงการสร้างรั้วกั้น การติดป้ายเตือน และตรวจสอบว่าตรงจุดไหนอันตราย ควรมีอุปกรณ์ช่วยชีวิต และจัดอบรมให้ความรู้ในการช่วยเหลือผู้ที่จมน้ำอย่างถูกต้อง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร