สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

ป้องกันเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก สคร.9 เตือนผู้ปกครอง ครูอนุบาลและศูนย์เด็กเล็ก คัดกรองและสังเกตอาการเด็กก่อนเข้าเรียน

ป้องกันเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก

สคร.9 เตือนผู้ปกครอง ครูอนุบาลและศูนย์เด็กเล็ก คัดกรองและสังเกตอาการเด็กก่อนเข้าเรียน

 

ในช่วงนี้เป็นช่วงเปิดเทอม ทำให้เด็กมีกิจกรรมรวมกลุ่มกันมากขึ้น ประกอบกับช่วงฤดูฝนทำให้สภาพอากาศชื้น ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคมือ เท้า ปากได้ง่าย สคร.9 นครราชสีมา ขอความร่วมมือผู้ปกครอง หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของเด็ก เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ขอให้หยุดเรียนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ผู้อื่น ส่วนผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ขอให้คัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

 

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคมือ เท้า ปากว่า โรคนี้เกิดได้ตลอดทั้งปี ติดต่อกันโดยการสัมผัสของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากแผลตุ่มพอง อุจจาระของผู้ป่วย การไอ จาม หรือหายใจรดกัน อาการของโรคมือ เท้า ปาก เริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น และก้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

สถานการณ์โรคมือเท้าปากในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 11 มิถุนายน 2568 มีผู้ป่วยสะสม 653 ราย อัตราป่วย 9.90 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วยสะสม 132 ราย อัตราป่วย 12.34 ต่อประชากรแสนคน 2) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยสะสม 307 ราย อัตราป่วย 11.76 ต่อประชากรแสนคน 3) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วยสะสม 137 ราย อัตราป่วย 10.09 ต่อประชากรแสนคน 4) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วยสะสม 77 ราย อัตราป่วย 4.93 ต่อประชากรแสนคน  กลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 1 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 2 ปี และกลุ่มอายุ 3 ปี ตามลำดับ

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันโรค มือ เท้า ปาก ขอให้ผู้ปกครอง โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปฏิบัติดังนี้ 1) ผู้ปกครองคัดกรองอาการของเด็กก่อนไปเรียน หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ร่วมกับมีแผลในปาก โดยอาจมีหรือไม่มีตุ่มน้ำที่มือหรือเท้าก็ได้ ควรพาไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และให้พักอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ หลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานที่ป่วยไปในที่ชุมชน เช่น สนามเด็กเล่น บ้านบอล ตลาด ห้างสรรพสินค้า เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อและป้องกันการระบาดในชุมชน 2) ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น 3) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนควรจัดให้มีอ่างล้างมือ ทำความสะอาดของเล่น และพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม หากพบเด็กป่วย ขอให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน ค้นหาเด็กที่อาจป่วยเพิ่มเติม หากมีเด็กป่วยจำนวนมากอาจต้องพิจารณาปิดชั้นเรียน ประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อทำความสะอาด และฆ่าเชื้อ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค    โทร.1422


ข่าวสารอื่นๆ