สคร.9 นครราชสีมา เตือนประชาชนอย่างหลงเชื่อความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า เช่น สุนัขและแมวที่มีเจ้าของมักจะไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า โรคพิษสุนัขบ้าเกิดเฉพาะหน้าร้อนเท่านั้น หรือเข้าใจผิดว่า ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้หมาแมวทุกปี เป็นต้น ซึ่งความเชื่อที่ผิดๆ เหล่านี้ อาจส่งผลให้ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และเสียชีวิตในที่สุด
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคพิษสุนัขบ้าว่า เกิดจากเชื้อไวรัส เรบีส์ พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว โค กระบือ หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว ในประเทศไทยมักพบใน สุนัข แมว โค และกระบือ ซึ่งหากผู้ป่วยถูกสุนัข และแมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผลแล้วไม่รีบรักษา เช่น ล้างแผล หรือฉีดวัคซีนป้องกัน จะทำให้ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีอาการเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อย มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บ เสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงบริเวณบาดแผล ต่อมา จะมีอาการกระสับกระส่าย ไวต่อเสียงดัง เพ้อ กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ กลืนลำบาก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ชัก เกร็ง เป็นอัมพาต หมดสติ โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคอันตรายถึงแก่ชีวิต หากติดเชื้อนี้แล้วไม่ไปฉีดวัคซีนป้องกันจะต้องเสียชีวิตทุกราย ส่วนอาการในสัตว์ที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ สัตว์มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ดุร้าย เดินเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ กลืนลำบาก เป็นต้น
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ 5 เรื่องความเข้าใจผิดเรื่อง "โรคพิษสุนัขบ้า" เนื่องจากมีความเสี่ยง เพราะโรคนี้ไม่มีทางรักษาหาย เป็นแล้วเสียชีวิตทุกราย ความเข้าใจผิดเหล่านี้ได้แก่
1.โรคพิษสุนัขบ้าเกิดเฉพาะหน้าร้อน ความจริงแล้ว โรคพิษสุนัขบ้า เกิดได้ทุกฤดู แต่ในช่วงฤดูร้อน หมา แมว จะหงุดหงิดง่ายกว่าปกติ ผู้ที่ใกล้ชิดสัตว์จึงมีโอกาสเสี่ยงถูกกัดได้บ่อย นอกจากนี้ เมื่อสัตว์หงุดหงิด ก็อาจทำให้สัตว์กัดกันเอง จนทำให้สัตว์ที่ไม่ได้ติดเชื้อนั้น ติดเชื้อไปด้วย
2.ความเข้าใจผิดว่า ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้หมาแมวทุกปี ความจริงคือ จำเป็นต้องฉีดทุกปี โดยเจ้าของต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ 2 เดือน เข็มที่สองฉีดหลังจากเข็มแรก 3-4 สัปดาห์ และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี ซึ่งจะช่วยให้ภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์อยู่สูงถึงระดับที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และทำหมันสุนัขถาวรเพื่อไม่ให้มีจำนวนมากเกินความต้องการ จะช่วยลดจำนวนประชากรสุนัข
3.หมาแมวที่มีเจ้าของจะไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ความจริงคือ หมาแมวมีเจ้าของก็ติดเชื้อได้ เพราะมีโอกาสไปสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ
4.ลูกหมา ลูกแมวที่มีอายุน้อยกว่า 3 เดือน จะไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ความจริงคือ หมาแมวก็สามารถติดเชื้อได้ตั้งแต่ก่อนอายุ 3 เดือน
5.เมื่อถูกกัด ข่วน หรือเลีย แค่ทำแผลก็พอไม่ต้องรีบไปหาหมอ ความจริงคือ หากถูกหมา แมว กัดข่วน เลียบาดแผล หรือเยื่อบุตา ต้องรีบล้างแผลและไปพบแพทย์ทันที และที่สำคัญ ต้องฉีดวัคซีนให้ครบ จะช่วยป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้
นอกจากนี้ ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ หรือซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า และไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีเชื้อโรค หรือดื่มน้ำนมจากสัตว์ที่ติดโรคนี้ หากประชาชนถูกสุนัข กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบ “ล้างแผล ใส่ยา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบ” คือ ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำ และสบู่ นาน 10 - 15 นาที ใส่ยาฆ่าเชื้อ รีบไปพบแพทย์เพื่อพิจารณารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบชุด กักสัตว์เพื่อดูอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสัตว์ตาย ให้แจ้งปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชนเพื่อส่งสัตว์ตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า หากประชาชนมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
** ตรวจจับเร็ว ตอบโต้ทัน ป้องกันได้ **
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร