สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

สคร.9 นครราชสีมา ร่วมให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัยทางภาคเหนือ พร้อมย้ำเตือนประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ขอให้ติดตามข่าวสาร และเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ

         จากสถานการณ์น้ำท่วมทางภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชาชนทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากน้ำท่วม อีกทั้งสูญเสียทรัพย์สิน และเกิดความเจ็บป่วยทางร่างกาย สคร.9 นครราชสีมา ห่วงใยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ขอส่งกำลังใจให้ผู้ประสบภัยและขอให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว พร้อมเตือนประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ให้ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมอยู่เสมอระมัดระวังภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม เช่น การจมน้ำ สัตว์มีพิษกัดต่อย และไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต เป็นต้น

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้ทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักสะสมอย่างต่อเนื่อง ทำให้บ้านเรือนของประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างหนัก สคร.9 นครราชสีมา ส่งกำลังใจให้ผู้ประสบภัยในสถานการณ์น้ำท่วมขอให้ทุกคนมีสติ พร้อมทั้งเตือนประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง

         หากเกิดอุทกภัยขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้ 1) การป้องกันการจมน้ำ ขอให้ประชาชนยึดหลัก “4 ห้าม 4 ให้” โดย 4 ห้าม ได้แก่ 1)ห้ามหาปลาในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังโดยเฉพาะในช่วงน้ำไหลหลาก 2)ห้ามดื่มสุราแล้วลงไปในน้ำหรือเล่นน้ำ 3) ห้ามเดินผ่านหรือขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม 4) ห้ามเด็กลงเล่นน้ำ สำหรับ 4 ให้ ได้แก่ 1) ให้อพยพไปยังพื้นที่สูง 2) ให้รีบออกจากพื้นที่ในกรณีเกิดน้ำท่วมให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย 3) ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันเวลาฉุกเฉิน 4)ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด การป้องกันสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่องที่อาจหนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามบ้านและมุมมืดต่างๆ คือ สอดส่องและสังเกตมุมอับของบ้านเป็นประจำ สำรวจเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง การป้องกันไฟฟ้าช็อต ให้สับคัทเอาต์ตัดกระแสไฟพร้อมย้ายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟขึ้นที่สูง ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกชื้น หรือกำลังยืนอยู่บนพื้นที่เปียก ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเป็นประจำ ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วม และหลีกเลี่ยง การเดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟหรือเสาไฟฟ้า เนื่องจากหากเกิดไฟฟ้ารั่ว จะมีกระแสไฟฟ้ากระจายเป็นวงกว้าง ไม่ต่ำกว่า 3 เมตร

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า นอกจากภัยธรรมชาติที่มาจากน้ำท่วมแล้ว ยังขอเตือนให้ประชาชนป้องกันโรคและภัยสุขภาพจากเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนี้ 1.ไม่ทิ้งขยะทุกชนิด หรือขับถ่ายของเสียลงน้ำ ให้ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่นแล้ววางไว้ในที่แห้ง  2.ไม่ปล่อยให้เด็กเล็กลงเล่นน้ำโดยลำพัง เพราะเด็กอาจจมน้ำและช่วยเหลือไม่ทัน หรือถูกสัตว์มีพิษกัดต่อยได้  3.หากมีน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา ให้รีบล้างหน้าและดวงตาด้วยน้ำสะอาด  4.รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด  5.หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำย่ำโคลน ควรใส่รองเท้าบูททุกครั้งและรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที และ  6.รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และสวมใส่หน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัดหรือมีอาการป่วย เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ