สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

สคร.9 แนะวิธีป้องกันฝุ่น Pm 2.5 ยึดหลัก “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด”

         ฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่สำคัญของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการเผาป่าและไฟป่า มลพิษ ควันจากท่อไอเสียของรถยนต์ อุตสาหกรรม การก่อสร้าง ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของประชาชนทั่วไปและประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว สคร.9 นครราชสีมา แนะวิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้แก่ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” คือ หลีก: หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ปิด: ประตูหน้าต่างให้มิดชิดใช้: หน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ทุกครั้งเมื่อออกนอกอาคาร เลี่ยง: การทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน ลด: กิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ปัจจุบัน ค่าฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วประเทศ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.เด็กเล็ก (เด็กแรกเกิด- 5 ปี) เนื่องจากระบบป้องกันและภูมิคุ้มกันของร่างกายยังพัฒนาได้ไม่ดีเหมือนผู้ใหญ่ 2.หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอายุครรภ์ 6 เดือนแรก อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ที่กำลังพัฒนาอวัยวะต่างๆ อาจส่งผลกระทบในระยะยาว รวมถึงการคลอดก่อนกำหนด และทารกแรกคลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 3.ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ และ 4.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด โรคหอบหืด 5.ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจ พนักงานทำความสะอาดถนน คนขับขี่รถโดยสารสาธารณะ พนักงานส่งอาหาร /พัสดุ แม่ค้าหาบเร่แผงลอย เป็นต้น ดังนั้น ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5 โดยยึดหลัก “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” คือ หลีก: หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ปิด: ประตูหน้าต่างให้มิดชิด ใช้: หน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ทุกครั้งเมื่อออกนอกอาคาร เลี่ยง: การทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน (มากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน) ลด: กิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น เช่น การใช้รถยนต์และการเผาทุกชนิด

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ได้แนะนำการเลือกหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 ที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง ได้แก่

         หน้ากาก N95 แบบไม่มีวาล์ว สามารถป้องกันฝุ่นอนุภาคขนาด <0.3 ไมครอน : 95% ข้อจำกัดคือ อาจทำให้หายใจลำบากหากต้องใส่ในระยะเวลานาน ควรใส่เฉพาะเวลาที่อยู่กลางแจ้ง และควรเช็กความแนบสนิทกับใบหน้า

         หน้ากาก N95 แบบมีวาล์ว สามารถป้องกันฝุ่นอนุภาคขนาด <0.3 ไมครอน : 95% หน้ากากแบบN95 นี้ทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น เหมาะสำหรับทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ โรคปอด

         หน้ากากอนามัย 2 ชิ้น ป้องกันฝุ่นอนุภาคขนาด 2.5 ไมครอน ประมาณ 90% เหมาะกับกลุ่มปกติเมื่ออยู่กลางแจ้ง ในอาคารและกลุ่มเปราะบางในกรณีที่อยู่ในอาคาร หรือบริเวณกลางแจ้งที่มีค่าฝุ่นที่ 25.1-37.5 หรือระดับมีผลกระทบ (สีเหลือง)

         หน้ากากผ้าฝ้าย 3 ชั้น ป้องกันฝุ่นอนุภาคขนาด 2.5 ไมครอน ประมาณ 41% ประสิทธิภาพน้อย ไม่เหมาะกับกลุ่มเสี่ยง

         หน้ากากผ้ามัสลิน ป้องกันฝุ่นอนุภาคขนาด 2.5 ไมครอน ประมาณ 38% ประสิทธิภาพน้อย ไม่เหมาะกับกลุ่มเสี่ยง

         ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนหมั่นดูแลสุขภาพตนเอง ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม สังเกตตนเอง หากมีอาการรุนแรงให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมกับให้ติดตามสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 ทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน Air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ ขอเชิญชวนให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หมั่นเช็คสภาพรถยนต์ หรือใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่เผาป่า หรือการเผาขยะในครัวเรือน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ