สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ
Responsive image

สรป. หารือคณะทำงานแผนปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างประเทศฯ กรมควบคุมโรค ระยะที่ 2 เตรียมพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศด้านการป้องกันควบคุมโรค

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมประเมิน จันทวิมล กรมควบคุมโรค นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุมคณะทำงานตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรครวมกว่า 60 คน พิจารณาร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างประเทศฯ ระยะที่ 2 เพื่อให้กรมควบคุมโรคมีความพร้อมร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

สพญ.ดร.เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศในฐานะเลขานุการคณะทำงานฯ ทบทวนและปรับปรุงคำสั่งคณะทำงานฯ ให้ครอบคลุมทั้งส่วนกลางและภูมิภาค (สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 - 12) เพื่อช่วยกำหนดทิศทาง นโยบายและจัดทำแผนปฏิบัติการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศทุกระดับ รวมถึงให้ข้อคิดเห็น สนับสนุนข้อมูล ประสาน ขับเคลื่อน กำกับติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างประเทศฯ กรมควบคุมโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ประชุมเห็นชอบต่อร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างประเทศฯ ระยะที่ 2 ซึ่งเห็นประโยชน์ของการทำงาน และสนับสนุนให้เกิดความชัดเจนในหลายประเด็น อาทิ บทบาทหน้าที่ของกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ การพัฒนาบุคลากรด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ระบบและกลไกการดำเนินงาน รวมถึง วิธีการหารือแนวทางที่จะทำให้กรมควบคุมโรคสามารถบรรลุเป้าหมายงานความร่วมมือระหว่างประเทศโดยร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างประเทศฯ ระยะที่ 2 ประกอบด้วย 4 แผนปฏิบัติการ ได้แก่ 1) การยกระดับบทบาทนําระดับนานาชาติ และขับเคลื่อนนโยบาย กฎข้อบังคับ กรอบอนุสัญญา ความร่วมมือ และข้อตกลงระหว่างประเทศ 2) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายในการขับเคลื่อนและผลักดันด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ที่ระดับโลก ภูมิภาค ประเทศ และจังหวัด 3) การพัฒนาระบบบริหารจัดการ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ และ 4) การส่งเสริมศักยภาพองค์กร บุคลากร และเครือข่าย ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ

ผลการดำเนินงานในระยะที่ 1 ระหว่าง ปี พ.ศ. 2560-2565 มีความสำเร็จหลายอย่าง อาทิ การมีนวัตกรรมระหว่างพรมแดนต่างๆ การมีบทบาทนำจากการเป็นประเทศสมาชิกวาระความมั่นคงด้านสุขภาพ (GHSA) หรือ การได้เป็น 1 ใน 3 ของศูนย์ ACPHEED และที่ตั้งของสำนักเลขาธิการ ACPHEED ทั้งหมดได้ความร่วมมือจากเครือข่ายทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคร่วมกันทำงาน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่มาต่อยอดในแผนปฏิบัติการนี้ ได้แก่ การเชื่อมโยงข้อมูลและนวัตกรรมของแต่ละพรมแดน รวมถึงการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การพัฒนาหรือกำหนดบทบาทนำของไทยในเวทีระดับภูมิภาค และระดับโลกให้ชัดเจนมากขึ้น

ข่าวโดย กลุ่มยุทธศาสตร์และพัฒนาองค์กร/กลุ่มนวัตกรรมฯ สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ


ข่าวสารอื่นๆ