สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ
Responsive image

โรคไข้หวัดนกในคนที่เวียดนาม ณ เมืองนิญฮหว่า ญาจาง จังหวัดคั้นห์หว่า ประเทศเวียดนาม (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีค. 2567)

วันที่ 22 มีค. 2567 ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคคั้นห์หว่ารายงานผู้ป่วยติดเชื้อ H5Nx (ยังไม่ระบุ subtype) รายแรกของเวียดนามในปีนี้ เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เพศชาย อายุ 21 ปี (ภูมิลำเนามาจากจังหวัดนินห์ถ่วนติดกับจังหวัดคั้นห์หว่า) ขณะนี้ผู้ป่วยอยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) และใช้เครื่องช่วยหายใจ หน่วยงานสาธารณสุขกำลังสอบสวนถึงแหล่งที่มาของการติดเชื้อ ข้อมูลจากสื่อต่างๆ ไม่พบรายงานสัตว์ปีกหรือนกป่าป่วยตายในบริเวณที่พักอาศัยของผู้ป่วย แต่ได้มีการเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกรวมทั้งเป็ดเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หวัดนกแล้ว

ลำดับเหตุการณ์

11 มีค. 2567: ผู้ป่วยมีอาการไข้ ไอเล็กน้อย ขณะที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยญาจาง ทานยาเอง แต่อาการไม่ดีขึ้น

15 มีค. 2567: ผู้ป่วยกลับบ้านที่นินห์ถ่วน (ห่างญาจางประมาณ 35 กม.) และเข้ารับการรักษาที่ศูนย์การแพทย์ในเมือง

16 มีค. 2567: ผู้ป่วยย้ายมารักษาตัวที่รพ.เขตในแผนกฉุกเฉิน และถูกส่งตัวมาที่แผนกโรคติดเชื้อ เนื่องจากมีอาการแย่ลงด้วยอาการ ไข้สูง ปวดท้อง และถ่ายเหลว

17 มีค. 2567: ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจึงถูกส่งตัวมาที่ ICU รพ.คั้นห์หว่า และได้รับการเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่สถาบันปาสเตอร์แห่งญาจาง

20 มีค. 2567: สถาบันปาสเตอร์แห่งญาจางรายงานพบผลบวกต่อการติดเชื้อโรคไข้หวัดนก avian influenza A(H5Nx) และผู้ป่วยได้รับการกักตัวเพื่อรักษาที่รพ. ซึ่งศูนย์ป้องกันควบคุมโรคคั้นห์หว่าได้ทำการฆ่าเชื้อในรพ. และติดตามผู้สัมผัสประกอบด้วยบุคลากรที่ให้บริการทางการแพทย์ในหลายแผนกประมาณ 20 คน และผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยจำนวน 4 คน

21 มีค. 2567: ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคคั้นห์หว่าทำลายเชื้อบริเวณที่อยู่อาศัยของผู้ป่วยที่มหาวิทยาลัยญาจางและมีนักศึกษาที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยอีก 66 คน ตัวอย่างของผู้อาศัยร่วมห้องเดียวกับผู้ป่วยจำนวน 6 คนได้ถูกส่งตรวจเพื่อหาเชื้อ ผลตรวจไม่พบเชื้อไวรัสไข้หวัดนก (avian influenza A) ทั้ง 6 คน

ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการเฝ้าระวัง

  1. พบการติดเชื้อไข้หวัดนกค่อนข้างน้อยในคนและยังไม่พบข้อบ่งชี้ของการติดเชื้อระหว่างคนสู่คนมากนัก แต่พบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนกมีโอกาสสูงมากที่จะเปลี่ยนเป็นโรคติดเชื้อระหว่างคนสู่คนและเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง แม้ว่าผู้สัมผัสร่วมห้องทั้ง 6 คนจะให้ผลลบแต่ยังต้องมีการติดตามผู้สัมผัสอย่างต่อเนื่องและค้นหาเพิ่มเติม

  2. จากข้อมูลของ FAO (EMPRES-i: ข้อมูลโรคในสัตว์ทั่วโลก) เมื่อวันที่ 28 กพ. 2567 มีรายงานการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิด H5N1 ในฝูงสัตว์ปีกเกิดขึ้นในเมืองเสื่อยเตี๋ยน ซึ่งอยู่ห่างจากญาจางประมาณ 20 กม. แหล่งที่มาของการระบาดอยู่ในระหว่างการสอบสวน ซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับเชื้อทั้งจากนกป่า, สัตว์ปีก รวมถึงการสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนเชื้อ

  3. ก่อนหน้านั้นมีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก ชนิด H5N1 ที่เวียดนามล่าสุดในเดือน ตค. 2565 โดยห่างจากครั้งก่อนที่มีรายงานใน พ.ศ. 2557 ค่อนข้างนาน ซึ่งในขณะนั้นประเทศเวียดนามได้ออกมาตรการ ประกาศต่างๆ เพื่อการเตรียมพร้อม ตอบโต้ และควบคุมการติดต่อโรคไข้หวัดนกมาสู่คนหลายมาตรการ และถูกนำมาปฏิบัติใช้ควบคุมโรคในสถานการณ์ปัจจุบัน

ข้อมูลจาก: BlueDot ภายใต้ความร่วมมือ ASEAN Health Cluster 2

ถอดความโดย: สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ (OIC) กรมควบคุมโรค



ข่าวสารอื่นๆ