สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ
Responsive image

แจ้งเตือนเหตุการณ์โรคไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรงในสัตว์ H5N1 ประเทศสหรัฐอเมริกา ณ วันที่ 30 มี.ค. 2567

แจ้งเตือนเหตุการณ์โรคไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรงในสัตว์ H5N1 ประเทศสหรัฐอเมริกา ณ วันที่ 30 มี.ค. 2567

แหล่งข้อมูล: BlueDot ภายใต้ ASEAN Health Cluster 2
ถอดความโดย: สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค

พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ (รัฐ)
ไอดาโฮ, แคนซัส, มิชิแกน, นิวเม็กซิโก, เท็กซัส
 
ลำดับเหตุการณ์
1. วันที่ 20 มีนาคม 2567: คณะกรรมการสุขภาพสัตว์ของรัฐมินนิโซตา (MBAH) แถลงตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ในลูกแพะที่อาศัยอยู่ในฟาร์มที่เพิ่งตรวจพบการระบาดโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก ซึ่งทางกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA) ได้รายงานต่อองค์การอนามัยสัตว์โลก (WOAH) โดยระบุว่ามี ไก่ เป็ด และแพะตายหลายสิบตัวในฟาร์ม ตัวอย่างสมองและเนื้อเยื่อจากลูกแพะห้าตัวมีผลบวกต่อเชื้อ H5N1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกัน (clade 2.3.4.4b) กับการระบาดตั้งแต่ พ.ศ. 2565 ผลการทำลำดับจีโนมพบความสัมพันธ์สูงมากระหว่างเชื้อไวรัสที่พบในตัวอย่างจากแพะและสัตว์ปีกในฟาร์ม เหตุการณ์นี้เป็นการตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรง (H5N1) ในสัตว์เคี้ยวเอื้องเป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ 

2. วันที่ 22 มีนาคม 2567 หน่วยบริการตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช (APHIS) และ USDA รายงานพบวัวมีอาการคล้ายไข้หวัด รวมถึงมีไข้ น้ำนมมีลักษณะข้นและเปลี่ยนสี การผลิตน้ำนมลดลง และมีอาการเบื่ออาหารในรัฐเท็กซัส, แคนซัส และนิวเม็กซิโก อีกทั้งยังมีรายงานพบนกป่าตายในฟาร์มวัวที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย และยืนยันพบเชื้อไวรัส H5N1 ในตัวอย่างน้ำนมจากวัวที่แสดงอาการป่วยในฟาร์มสองแห่งที่รัฐแคนซัสและเท็กซัส และในตัวอย่างจากคอหอยหลังช่องปากของวัวนมในฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐเท็กซัส

3. วันที่ 25 มีนาคม 2567 ทาง USDA-APHIS ได้ออกแถลงการณ์ผลการสอบสวนโรคเบื้องต้นในวัวนมที่รัฐเท็กซัส, แคนซัส และนิวเม็กซิโก จากผลการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการในน้ำนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ และตัวอย่างสารคัดหลั่งจากจมูกและคอของวัวนม พบผลบวกจากการติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ในรัฐแคนซัสและเท็กซัส 

4. วันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่รัฐไอดาโฮและมิชิแกนได้แจ้งผลการตรวจยืนยันจากห้องปฏิบัติการ พบวัวติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ซึ่งเป็นวัวที่นำเข้าจากรัฐเท็กซัส ทางห้องปฏิบัติการบริการสัตวแพทย์แห่งชาติของ USDA (NVSL) ยืนยันว่าสายพันธุ์ของไวรัสที่พบในมิชิแกนมีความคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ที่ได้รับการยืนยันในเท็กซัสและแคนซัส คาดว่าจะถูกนำเข้ามาโดยนกป่า (เชื้อ H5N1, สายพันธุ์ Eurasian lineage goose/Guangdong clade 2.3.4.4b)

ข้อสังเกตสำคัญ
จากการทดสอบทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น ยังไม่พบข้อบ่งชี้ถึงความสามารถของเชื้อไวรัสที่จะติดต่อสู่คนได้มากขึ้น ทางองค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ ได้แนะนำอุตสาหกรรมนมของสหรัฐฯ ไม่ควรผลิตหรือขายนมดิบรวมถึงนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ หรือผลิตภัณฑ์ชีสที่ทำจากวัวที่แสดงอาการของโรค รวมถึงวัวที่ติดเชื้อไข้หวัดนกหรือมีประวัติสัมผัสเชื้อไข้หวัดนก

ข้อมูลสถานการณ์เชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ทั่วโลก:

1. ในนกป่าและสัตว์ปีก:
- เชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 clade กลุ่ม 2.3.4.4b เริ่มพบใน พ.ศ.2563 และเข้าสู่ทวีปอเมริกาเหนือในช่วงปลายปี พ.ศ. 2564 ต่อมาได้แพร่กระจายไปยังอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ทำให้เกิดการติดเชื้อในนกป่า (ทั้งนกบนบก นกทะเล นกชายฝั่ง และนกอพยพ) และเกิดการระบาดในสัตว์ปีกในหลายประเทศ
ช่วงฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ. 2565 
- มีรายงานการตรวจพบไวรัส H5N1 ในนกในภูมิภาคแอนตาร์กติกาเป็นครั้งแรก
- ทั่วโลกพบเชื้อไวรัส H5N1 clade 2.3.4.4b แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการระบาดในนกจำนวนมากทั้งในนกป่า สัตว์ปีกในบ้าน สัตว์ปีกเลี้ยงหลังบ้านและในฟาร์ม
- มีรายงานการระบาดของเชื้อ H5N1 จาก 84 ประเทศในระบบรายงานของ WOAH  มากกว่า 11,400 ครั้ง ตั้งแต่เดือน มค. 2565
- ในสหรัฐฯ  APHIS รายงานการตรวจพบเชื้อไวรัส H5N1 ในนกป่ามากกว่า 8,500 ตัวใน 50 รัฐ และฝูงสัตว์ปีกทั้งแบบเลี้ยงเพื่อการค้าและเลี้ยงในบ้านมากกว่า 1,000 ฝูง ระหว่างเดือนมค. 2564 ถึงเดือนธค. 2565 และมีฝูงสัตว์ปีกเลี้ยงหลังบ้านที่ได้รับผลกระทบ 77.9 ล้านตัวใน 47 รัฐ

2. ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม:
- ในสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนพค. 2564 ถึงวันที่ 27 ธค. 2565 มีรายงานการระบาดของเชื้อไวรัส H5N1 ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (21 ชนิด) จำนวน 207 ตัว ใน 27 รัฐ
- ทั่วโลก ตั้งแต่เดือนมค. 2565 มีรายงานการระบาดของเชื้อ H5N1 อย่างน้อย 300 ครั้งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชนิดต่างๆ จำนวน 29 ชนิด 
- พบรายงานการระบาดอื่นๆ ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาจมีความสัมพันธ์กับเชื้อไวรัสไข้หวัดนก เช่น มิงค์ที่เลี้ยงในฟาร์มในสเปน สุนัขจิ้งจอกที่เลี้ยงในฟาร์มในฟินแลนด์ แมวน้ำและแมวน้ำสีเทาในสหรัฐอเมริกา สิงโตทะเลในเปรู, อาร์เจนตินา, และชิลี แมวน้ำยักษ์ในภูมิภาคแอนตาร์กติกา รวมถึงสัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่น แมวในโปแลนด์, ฝรั่งเศส, เกาหลีใต้, และสหรัฐ และสุนัขในอิตาลี

การประเมินความเสี่ยง:
1. แม้ว่าทาง APHIS จะเน้นย้ำว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อกังวลต่อการจัดหาผลผลิตน้ำนมวัวในประเทศ และยังไม่มีหลักฐานผลกระทบต่อสุขภาพคน  อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจความเสี่ยงและเส้นทางการติดต่อที่ไปสู่คนที่มีประวัติสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์
2. ข้อมูลการพบเชื้อไวรัส H5N1 ที่พบในวัวที่สหรัฐฯ นั้น อาจเป็นข้อบ่งชี้ว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนกอาจมีการติดต่อระหว่างกันในวัว นอกเหนือจากสมมติฐานที่คาดว่าวัวน่าจะได้รับเชื้อไวรัสจากนกหรือสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อน ซึ่งต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่เพิ่งอาจเกิดขึ้น เป็นผลให้เชื้อมีการติดต่อกันระหว่างวัว/สัตว์เคี้ยวเอื้องอื่นๆ 
3. การระบาดเพิ่มขึ้นที่พบในวัวอาจเป็นปัจจัยเสริมทำให้มีการวิวัฒนาการของเชื้อไวรัสเพิ่มเติม เป็นผลให้เชื้อ H5N1 ปรับตัวได้ดีขึ้นในวัวและอาจเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพสัตว์และความมั่นคงด้านอาหาร
4. วัวยังไม่ถูกจัดเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ Influenza A ชนิดอื่นๆ (ซึ่งต่างจากสุกร) ดังนั้น การพบการติดเชื้อ Influenza ในวัวจึงถือว่ามีความเสี่ยงต่ำต่อการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในพันธุกรรมของเชื้อไวรัส influenza ที่มาจากการรวมตัวกันของเชื้อ influenza ในสัตว์และในคน


ข่าวสารอื่นๆ