สคร.9 นครราชสีมา ย้ำเตือนประชาชนผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังให้ระมัดระวังโรคไข้ฉี่หนูโดยเฉพาะช่วงหลังน้ำลด ไม่ควรเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่าหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูทหรือใช้ถุงพลาสติกหุ้มเท้า แนะสัญญาณป่วยโรคนี้ คือ มีไข้สูงเฉียบพลันหลังลุยน้ำ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะน่องหรือโคนขา ควรรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการรักษา ห้ามซื้อยากินเองเพราะอาจทำให้โรครุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมขัง หากเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า อาจทำให้เชื้อโรคไข้ฉี่หนูปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายได้ โรคไข้ฉี่หนู มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝนหรือเกิดพายุมรสุม เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ เช่น หนู หมู วัว ควาย สุนัข แพะ แกะ และปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ ลำคลอง แอ่งน้ำขังเล็กๆ และพื้นดินโคลนที่ชื้นแฉะ เชื้อนี้มีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือน สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ทางบาดแผลหรือรอยถลอก รอยขีดข่วน หรืออาจชอนไชผ่านผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนานๆ หรือรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับโรคติดเชื้อทั่วไป แต่สังเกตความแตกต่างได้ คือ หลังติดเชื้อประมาณ 2-10 วัน จะเริ่มมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะบริเวณน่องและโคนขา ร่วมกับมีอาการหนาวสั่น บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง หากมีอาการดังกล่าวหลังเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำนาน ขอให้นึกถึงโรคนี้ และรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำหรือย่ำโคลนให้แพทย์ทราบ อย่าซื้อยามารับประทานเอง เพราะทำให้อาการรุนแรง เช่น ตับไตวาย ซึ่งข้อมูลการเสียชีวิตจากโรคฉี่หนูที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่มาพบแพทย์ช้า
สถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 2 กันยายน 2567 พบผู้ป่วยจำนวน 98 ราย เสียชีวิต 2 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 36 ราย เสียชีวิต 1 ราย 2) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 23 ราย 3) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 20 ราย เสียชีวิต 1 ราย 4) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 19 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55-64 ปีขึ้นไป และ 45-64 ปี ตามลำดับ
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า โรคฉี่หนูสามารถป้องกันได้ ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน หรือเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลหรือรอยขีดข่วนที่เท้าต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูท หากมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ รีบทำความสะอาดบาดแผลและร่างกายหลังลุยน้ำ 2.ล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ 3.รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ อาหารค้างมื้อควรเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด และอุ่นให้เดือดก่อรับประทาน 4.หากทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลดควรสวมถุงมือยางและรองเท้าบูท เก็บขยะ เศษอาหารในถังที่มีฝาปิดมิดชิด หรือทิ้งในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่น เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู 5.หากมีไข้สูง ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่อง หลังสัมผัสพื้นที่น้ำขัง/ดินที่มีโอกาสปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ ห้ามซื้อยามารับประทานเอง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติเสี่ยงให้ทราบ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร