ในช่วงนี้หลายพื้นที่อากาศหนาวเย็น ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยเฉพาะตามป่าตามเขา เริ่มเปิดบริการให้ประชาชนเดินทางมาท่องเที่ยว หรือกางเต็นท์นอนเพื่อชมหมอกหรือสัมผัสอากาศหนาว ทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูกตัวไรอ่อนที่อาศัยอยู่ในป่ากัด ซึ่งอาจติดเชื้อและป่วยเป็นโรคสครับไทฟัส หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ได้ สคร.9 เตือนประชาชนให้สวมใส่เสื้อที่ปิดคอ เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว และทายากันแมลงกัด
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เตือนประชาชนที่ไปกางเต็นท์นอนในป่า หรือไปท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวตามป่าเขา ขอให้ระวังถูกตัวไรอ่อนกัด ทำให้เป็นโรคไข้รากสาดใหญ่ หรือโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus) โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีตัวไรอ่อนเป็นพาหะ อาศัยอยู่ตามกอไม้ กอหญ้าใกล้กับพื้นดิน จะกัดคนหรือสัตว์เพื่อกินน้ำเหลืองเป็นอาหาร โดยจะไต่ไปตามยอดหญ้าแล้วกระโดดเกาะตามเสื้อผ้าของคนและกัดผิวหนังที่สัมผัสกับเสื้อผ้า ตัวไรอ่อนมีขนาดเล็กมาก ราว 1 มิลลิเมตรเท่านั้น ส่วนใหญ่บริเวณที่ถูกกัด คือ รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว หากถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการ ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และบริเวณที่ถูกกัดอาจจะมีผื่นแดงขนาดเล็กค่อยๆ นูนหรือใหญ่ขึ้น และอาจจะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ แต่จะไม่ปวดและไม่คัน ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ และอาจทำให้เสียชีวิตได้
สถานการณ์โรคไข้รากสาดใหญ่ ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 13 พ.ย. 2566 พบผู้ป่วย 6,903 ราย มีผู้เสียชีวิต 6 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 45-54 ปี รองลงมาคือ 55-64 ปี และ 65 ปี ขึ้นไป ตามลำดับ อาชีพส่วนใหญ่ คือ เกษตรกร ร้อยละ 41.7 รับจ้าง ร้อยละ 21.9 ไม่ทราบอาชีพ/ในปกครอง ร้อยละ 15.4 ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ
สถานการณ์โรคไข้รากสาดใหญ่ เขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 13 พ.ย.2566 พบผู้ป่วย 675 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 233 ราย อัตราป่วย 8.88 ต่อประชากรแสนคน 2) จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 174 ราย อัตราป่วย 15.54 ต่อประชากรแสนคน 3) จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 158 ราย อัตราป่วย 10.03 ต่อประชากรแสนคน และ 4) จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 110 ราย อัตราป่วย 8.01 ต่อประชากรแสนคน กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 55-64 ปี รองลงมา คือ 65 ปี ขึ้นไป และ 45-54 ปี ตามลำดับ ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 52.6 กรรมกร ร้อยละ 26.3 และไม่ทราบอาชีพ ร้อยละ 13.2
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อว่า ผู้ที่ไปท่องเที่ยวกางเต็นท์นอนในป่า หรือทำงานเกษตรกรรม ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อที่ปิดคอ เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว และทายากันยุง หรือใช้สมุนไพรทากันยุง ขอให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม เช่น ทุ่งหญ้า ชายป่า หรือบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง หลังออกจากป่าให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย สระผม และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาดด้วยผงซักฟอกเข้มข้น เพราะอาจมีตัวไรอ่อนติดมากับร่างกายหรือเสื้อผ้าได้ หากมีอาการไข้และอาการข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422