สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

สคร.9 นครราชสีมา เน้นมาตรการ “4 เน้น 4 เดือน” ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ถึง ก.ย.2567 หวังลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก แนะทายากันยุง อย่าซื้อยากินเอง

         ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดมาตรการ “4 เน้น 4 เดือน” ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงกันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในช่วงดังกล่าวให้ต่ำกว่าค่าคาดการณ์ 30% หรือต่ำกว่า 100,000 ราย และขอให้ชุมชนร่วมมือกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หากป่วยเป็นไข้เลือดออกควรไปพบแพทย์อย่าซื้อยามากินเอง ร้านขายยาไม่ควรจ่ายยาในกลุ่ม NSAIDs ให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคไข้เลือดออก เพราะระคายเคืองกระเพาะอาหาร และทำให้เกล็ดเลือดไม่แข็งตัวอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกปี 2567 ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในเดือนมิถุนายน - กันยายน อาจมีสูงกว่า 153,000 ราย พร้อมทั้งเสนอมาตรการ 4 เน้น 4 เดือน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในช่วงดังกล่าวให้ต่ำกว่าค่าคาดการณ์ 30% ได้แก่ 1) เน้นการเฝ้าระวังโรคและยุงพาหะ โดยการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายต่ำกว่าร้อยละ 5 2) เน้นการตอบโต้ และควบคุมยุงพาหะ โดยหน่วยงานสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุมโรคไข้เลือดออกให้มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาการ  3) เน้นการวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว โดยผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไข้เลือดออกทุกรายควรได้รับการคัดกรองตรวจวินิจฉัยด้วยชุดตรวจไข้เลือดออกแบบรวดเร็ว (NS1 rapid test) ในหน่วยบริการปฐมภูมิ  4) เน้นการสื่อสารความเสี่ยง ให้ร้านขายยาและสถานบริการทางการแพทย์งดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs ให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคไข้เลือดออก เพราะยากลุ่มนี้ทำให้เกิดการระคายเคืองกับกระเพาะอาหาร อาจทำให้เลือดออกได้ และยังทำให้เกล็ดเลือดไม่แข็งตัวอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น

         สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตสุขภาพที่ 9 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 3 สิงหาคม 2567 2567 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 3,031 ราย เสียชีวิต จำนวน 6 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยสะสม 1,562 ราย เสียชีวิต 1 ราย 2) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วยสะสม 617 ราย เสียชีวิต 2 ราย 3) จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ มีผู้ป่วยสะสม 477 ราย 4) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วยสะสม 375 ราย เสียชีวิต 3 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี และ กลุ่มอายุ 0-4 ปี ตามลำดับ

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอแนะนำให้ประชาชนทายากันยุงเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไข้เลือดออกสู่บุคคลในครอบครัวและชุมชน รวมทั้งในกลุ่มเด็กซึ่งเป็นกลุ่มวัยที่พบป่วยมากที่สุด และในกลุ่มผู้สูงอายุที่พบว่าเมื่อป่วยแล้วมีโอกาสเสียชีวิตมากที่สุด หากมีอาการสงสัยโรคไข้เลือดออก เช่น มีไข้สูงเกิน 39-40 องศาเซลเซียสประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีผื่นหรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว แขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือยาพาราเซตามอล ตามขนาดยาที่กำหนด

         ร้านขายยาไม่ควรจ่ายยาในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน ให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคไข้เลือดออก เพราะระคายเคืองกระเพาะอาหาร และทำให้เกล็ดเลือดไม่แข็งตัวอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ