สคร.9 นครราชสีมา แนะประชาชน “กินร้อน-ช้อนกลาง-ล้างมือ-ดื่มน้ำสะอาด” ป้องกันโรคติดต่อจากอาหารและน้ำจากเชื้อ “ไวรัสโนโร” หลังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในกลุ่มเด็กนักเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เชื้อไวรัสโนโรมักติดต่อจากการปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็ง เช่น อาหารที่ปรุงไม่สุก อาหารทะเล หรือวัตถุดิบที่นำมาปรุงไม่สะอาด นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อจากการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง หรือหยิบจับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วนำเข้าปาก และเชื้อยังแพร่กระจายผ่านการหายใจ เน้นย้ำครู ผู้ปรุงอาหาร นักเรียน และประชาชน ให้ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย โดยเฉพาะในโรงเรียนหรือสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงเชื้อไวรัสโนโรว่า สภาพอากาศที่มีความชื้นและเย็น เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคบางชนิด โดยเฉพาะไวรัสโนโร จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันได้ เชื้อไวรัสโนโรสามารถติดต่อจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน การสัมผัสพื้นผิวหรือวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อและนำเข้าปากโดยไม่ได้ล้างมือ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน โดยมักพบการปนเปื้อนในน้ำดื่ม น้ำแข็ง และอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน เช่น ผัก ผลไม้สด เป็นต้น เชื้อโนโรไวรัส มีระยะฟักตัว 12-48 ชั่วโมงหลังรับเชื้อ อาการที่พบจะคล้ายกับโรคอาหารเป็นพิษ คือ อาเจียนรุนแรง ปวดมวนท้อง ท้องเสีย มีไข้ต่ำ ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อชนิดนี้ส่วนใหญ่อาจเกิดภาวะขาดน้ำได้ สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงสามารถพักรักษาตัวที่บ้าน และควรดื่มเกลือแร่เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำในร่างกาย ส่วนผู้ป่วยที่อาการรุนแรงให้รีบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า มาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโนโร ขอให้ยึดหลัก “กินสุก-ร้อน-สะอาด” ดังนี้ 1) สุก รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบหรือสุกๆ ดิบๆ 2) ร้อน อาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง 3) สะอาด ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก รวมถึงเลือกบริโภคน้ำดื่ม น้ำแข็งที่สะอาดได้มาตรฐาน มีเครื่องหมาย อย. หรือ GMP หรือดื่มน้ำต้มสุก สำหรับน้ำดื่มตู้กรอง ควรหมั่นทำความสะอาดและตรวจสอบคุณภาพไส้กรองเป็นประจำเพื่อความปลอดภัย เมื่อมีอาการป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ควรดื่มสารละลายเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรง เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด หรืออาเจียนจำนวนมาก ปากแห้ง ปัสสาวะออกน้อยหรือปัสสาวะไม่ออก หายใจหอบเหนื่อย ควรรีบไปสถานบริการสาธารณสุขทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร