สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

สคร.9 เตือนเปิดเทอม พบนักเรียนป่วยโรคอาหารเป็นพิษ แนะพ่อครัว แม่ครัว หลีกเลี่ยงเมนูเสี่ยง พร้อมยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”

         สคร.9 นครราชสีมา เตือน!! พ่อครัว แม่ครัว ผู้ประกอบอาหารในโรงเรียน ต้องยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” หลังเกิดเหตุการณ์มีนักเรียนป่วยจากโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียนบ่อยครั้ง ขอให้เลือกเมนูอาหารที่ปลอดภัยและเหมาะสม ไม่ทำให้เกิดท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษ เช่น หลีกเลี่ยงเมนูกะทิ อาหารประเภทยำ ลาบ ส้มตำ อาหารทะเล ขอย้ำเตือนให้ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนอย่างทั่วถึง เลือกซื้ออาหารที่สด สะอาด แยกเขียงหั่นเนื้อและเขียงหั่นผักผลไม้ต่างหาก ผู้บริโภคควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ เลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ และอาหารที่มีรูป รส กลิ่น สี ผิดปกติ

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ในช่วงนี้พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากอาหารกลางวันของโรงเรียนบ่อยครั้ง ดังนั้น จึงขอเตือนพ่อครัวแม่ครัวผู้ปรุงอาหารให้มีความใส่ใจและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งโรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อาจเป็นได้ทั้ง แบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ และสารพิษ จึงพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี และมักพบการระบาดในสถานที่ที่มีการจัดเตรียมอาหารและน้ำสำหรับคนหมู่มาก เช่น งานแข่งกีฬาสีของโรงเรียน กิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ หากเตรียมและประกอบอาหารไม่ถูกหลักอนามัย จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อก่อโรค โดยอาการของผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ ปวดศีรษะ คอแห้งกระหายน้ำ อาจมีไข้ร่วมด้วย ในรายที่ถ่ายอุจจาระมาก ผู้ป่วยอาจช็อกหมดสติได้

         โดยสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -1 พฤศจิกายน 2567 มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 14,338 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 6,474 ราย 2) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 3,987 ราย 3) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 2,909 ราย 4) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 968 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ตามลำดับ

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ สุก : รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ข้าวกล่องและอาหารที่เตรียมสำหรับคนหมู่มาก เช่น อาหารกลางวันสำหรับนักเรียน อาหารกลางวันสำหรับงานประชุมต่างๆ ผู้ปรุงอาหารไม่ควรตักราดข้าว แต่ควรแยกกับข้าวบรรจุใส่ถุงต่างหาก อาหารบุพเฟ่ต์งานเลี้ยงประชุม ไม่ควรเตรียมไว้ข้ามมื้อ ร้อน : อาหารที่ปรุงไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง หากอาหารมีรูป รส กลิ่น สี เปลี่ยนไป ไม่ควรนำมารับประทานต่อ สะอาด : บริโภคอาหาร น้ำดื่ม น้ำแข็งที่สะอาด มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานการผลิต ถังแช่น้ำแข็งสำหรับรับประทาน ไม่ควรนำมาแช่ร่วมกับผัก เนื้อสัตว์ นอกจากนี้ต้องล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนสัมผัสหรือรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หรือสัมผัสสิ่งสกปรก หากผู้ป่วยมีอาการอาเจียน ท้องเสีย หรือถ่ายเหลว ควรให้ดื่มน้ำหรือน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอสบ่อยครั้งเพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรง เช่น ถ่ายมาก อาเจียนมาก ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน กระหายน้ำ อ่อนเพลีย มีไข้ หัวใจเต้นผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเกิดภาวะช็อกได้ หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ