องค์การอนามัยโลก และสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการป้องกันและการรักษาเบาหวาน สคร.9 เตือนผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวานปีละ 1 ครั้ง หากมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ กินจุ หิวบ่อย แต่น้ำหนักลด เป็นแผลง่ายและหายยาก คันตามผิวหนังตามัว และชาตามปลายมือปลายเท้า ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคเบาหวานว่า เกิดจากการทํางานของฮอร์โมนผิดปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะนํ้าตาลในเลือดสูง หากน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้อวัยวะเสื่อมสภาพเป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตา ไต หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง รวมถึงเป็นแผลง่ายหายยาก ชาปลายมือปลายเท้า โรคเบาหวานที่พบได้บ่อยที่สุด คือ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ในระยะแรกอาจไม่มีอาการ แต่มักตรวจพบเมื่อเช็คสุขภาพโดยบังเอิญในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน อ้วนลงพุง มีการขยับร่างกายที่น้อยลง ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าเกิดในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เช่น อายุ 20 - 30 ปี ซึ่งสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารประเภทแป้ง ของหวาน หรือการออกกำลังกายที่ลดลง โดยในปี 2567 มีแนวคิดในการรณรงค์ว่า : "Diabetes and Well-Being" เพื่อสร้างความตระหนักว่าผู้เป็นเบาหวานสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป
สถานการณ์โรคเบาหวานในเขตสุขภาพที่ 9 ในปีงบประมาณ 2567 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่ 43,979 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 670.72 ต่อเเสนประชากร เเยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยรายใหม่ 16,205 ราย อัตราป่วย 632.57 ต่อเเสนประชากร 2) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วยรายใหม่ 7,946 ราย อัตราป่วย 724.70 ต่อเเสนประชากร 3) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วยรายใหม่ 10,674 ราย อัตราป่วย 690.03 ต่อเเสนประชากร 4) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วยรายใหม่ 9,154 ราย อัตราป่วย 677.12 ต่อเเสนประชากร
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยเสี่ยงโรคของเบาหวานเกิดจากการมีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน รอบเอวเกิน เป็นโรคความดันโลหิตสูง รับประทานอาหารรสหวาน มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคเบาหวาน ทำได้โดยการเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย เน้นผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ ลดอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ทำจิตใจให้แจ่มใส นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ หากมีอาการปัสสาวะบ่อยและมาก กระหายน้ำ หิวน้ำบ่อย กินจุหิวบ่อย น้ำหนักลด เป็นแผลง่ายและหายยาก คันตามผิวหนัง ตามัว และชาตามปลายมือปลายเท้า ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป โดยประชาชนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวานปีละ 1 ครั้ง ค่าระดับน้ำตาลในเลือดควรน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งหากตรวจพบตั้งแต่เริ่มแรกและรักษาได้เร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร