สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

สคร.9 แนะ รร.อนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก คัดกรองและสังเกตอาการเด็กก่อนเข้าเรียน พร้อมแนะนำวิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก

         ช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เอื้อต่อการระบาดของเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก สคร.9 นครราชสีมา แนะสถานศึกษาคัดกรอง และสังเกตอาการเด็กเล็กก่อนเข้าเรียน เพื่อป้องกันโรค  มือ เท้า ปาก หากพบเด็กป่วยมีตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลำตัว หรือในช่องปาก กระพุ้งแก้ม ให้แยกออกจากเด็กปกติ และแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน เพื่อพาไปพบแพทย์

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคมือเท้าปากว่า ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เอื้อต่อการระบาดของเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ประกอบกับสถานศึกษาเปิดเรียนตามปกติ เด็กทำกิจกรรมรวมกลุ่มกัน ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค ซึ่งโรคมือเท้าปาก มีแนวโน้มป่วยมากที่สุดโดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เชื้อสามารถแพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพอง ตุ่มแผล หรือจากการสัมผัสของเล่น หรือภาชนะที่ใช้ร่วมกัน

         สำหรับอาการของโรคมือ เท้า ปาก ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อาจไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เจ็บคอ เจ็บปาก ในเด็กเล็กสังเกตได้จากการไม่ยอมรับประทานอาหารหรือมีน้ำลายไหล ร่วมกับมีผื่นหรือตุ่มน้ำใสพองเล็กๆ ขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลำตัว ก้น มีตุ่มแผลในช่องปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาตุ่มน้ำใสจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ ส่วนใหญ่อาการจะทุเลาและหายเองได้ภายใน    7-10 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้สูง รับประทานอาหารและน้ำได้น้อยมาก ซึมลง ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็ว ดังนั้น สถานศึกษาจึงควรมีมาตรการคัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้า เพื่อเฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก หากพบเด็กมีอาการเสี่ยงจะได้ป้องกันการแพร่ระบาดไปสู่เด็กคนอื่น

         สถานการณ์โรคมือเท้าปาก ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 18 พฤศจิกายน 2567 มีผู้ป่วยสะสม จำนวน 5,872 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยจำนวน 2,654 ราย 2) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วยจำนวน 1,833 ราย 3) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วยจำนวน 935 ราย 4) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วยจำนวน 450 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 1 ปี รองลงมาคือ 2 ปี และ 3 ปี ตามลำดับ  

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอเน้นย้ำให้ผู้ปกครองและสถานศึกษาสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด คำแนะนำในการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก มีดังนี้ 1.คัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้าอย่างเคร่งครัด  2.ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น  3.หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่น และพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ 4.หากพบเด็กป่วยให้แยกออกจากเด็กปกติ และแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้านเพื่อพาไปพบแพทย์ พร้อมทั้งให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าจะหาย แยกของใช้ส่วนตัวของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ ทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป และนำไปตากแดดให้แห้ง หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็กคนอื่น งดไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด  และหากพบการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก เป็นกลุ่มก้อน ควรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เพื่อดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ