โรคติดเชื้อไวรัสซิกา มียุงลายเป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สามารถติดต่อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ต้องเฝ้าระวังและป้องกันตนเองอย่าให้ถูกยุงกัด เพราะหากแม่ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้ว อาจส่งผลให้เด็กที่คลอดออกมามีความผิดปกติ เช่น ศีรษะเล็ก การได้ยินผิดปกติ และพัฒนาการช้า เป็นต้น หากมีไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ควรรีบปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาทันที โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคติดเชื้อไวรัสซิกาว่า โรคนี้มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทำให้ผู้ป่วยมีผื่นแดงตามลำตัวและแขนขา มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ตาแดง และสามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ ทารกเกิดความพิการทางสมองและระบบประสาท ส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีความผิดปกติ เช่น ศีรษะเล็ก การได้ยินผิดปกติ และพัฒนาการช้า เป็นต้น
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในเขตสุขภาพที่ 9 ระหว่างวันที่ 7 มกราคม - 30 พฤศจิกายน 2567 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 68 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 48 ราย 2) จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วยสะสม จำนวน 16 ราย 3) จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 2 ราย 4) จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 2 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 16-19 ปี และกลุ่มอายุ 40-49 ปี ตามลำดับ
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ควรป้องกันตนเองอย่าให้ถูกยุงกัดด้วยการทายากันยุง และไปฝากครรภ์ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์จนกว่าจะคลอด หากตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสซิกาต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยสูตินรีแพทย์ ส่วนในชุมชน ขอให้ค้นหาหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อแล้วทารกจะมีโอกาสพิการศีรษะเล็กได้ และขอให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้าน และรอบๆ ชุมชน โดยใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค คือ 1) เก็บบ้าน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก 2) เก็บขยะ ภายในบริเวณบ้านและชุมชน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 3) เก็บน้ำ เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ รวมถึงทายากันยุง และนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดกันยุง เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของคนในครอบครัว ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ได้แก่ ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด มารับประทาน และให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร