ในช่วงนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยเกิดปัญหาจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็กเล็ก เด็กนักเรียน ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่ต้องปฏิบัติงานหรือออกกำลังกายในสถานที่กลางแจ้ง หากได้รับมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เจ็บป่วยจากโรคภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหลอดเลือดและหัวใจเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง และมะเร็งปอดได้
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึง ฝุ่น PM 2.5 ว่า เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกิดจากควันเผาไหม้ของโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า ไอเสียจากรถยนต์ หรือจากการจราจร การเผาในที่โล่ง ทำให้ฝุ่น PM 2.5 สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กนักเรียน ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 จะเพิ่มระดับความรุนแรงต่อสุขภาพร่างกายของเรา จากการสะสมของฝุ่นละอองภายในปอดเป็นระยะเวลายาวนาน โดยระดับของอาการจะรุนแรงแตกต่างกัน ดังนี้
1.ไอ จามและภูมิแพ้: พบได้เมื่อมีฝุ่นละอองเข้าไปสะสมในโพรงจมูก ทำให้เกิดการระคายเคืองในจมูกและลำคอ มีเสมหะ ไอ จาม โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้จะมีอาการภูมิแพ้กำเริบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง: พบได้ในกรณีที่เป็นอาการไอต่อเนื่องนาน 3-8 สัปดาห์ขึ้นไป มีเสมหะเป็นสีขาว สีเหลือง หรือมีเลือดปน นอกจากนี้จะรู้สึกเหนื่อยเพิ่มมากขึ้น กระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
3.โรคหลอดเลือดและหัวใจเรื้อรัง: พบได้ในกรณีที่ฝุ่นละอองเกิดการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด อาจทำให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือดและผนังหัวใจ อาการที่พบคือ มีอาการเจ็บหน้าอก เหงื่อออก ใจสั่น เหนื่อยหรือแน่นขณะออกแรง ซึ่งอาจทำให้เป็นลม หมดสติ หรือเสียชีวิตได้
4.โรคปอดเรื้อรัง และมะเร็งปอด: พบได้ในกรณีที่สูดเอาฝุ่นละออง PM 2.5 สะสมเข้าไปเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะมากหมดเรี่ยวแรง หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ ซึ่งอาจรุนแรงและกลายเป็นเซลล์มะเร็งที่อาจลุกลามไปทั่วปอด เกิดเป็นโรคมะเร็งปอดได้
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า วิธีปฏิบัติให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 ทำได้โดย
รู้ : ตรวจสอบสภาพอากาศทุกครั้งก่อนเดินทางออกจากบ้าน ผ่านการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในแอปพลิเคชัน Air4thai และเพจ “คนรักอนามัย ใสใจ อากาศ PM 2.5” หรือติดตามข่าวสารตามช่องทางต่าง ๆ ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข
ลด : ลดการสร้างมลพิษ ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 เช่น จุดธูป เผากระดาษ ปิ้งย่างท่ีทําให้เกิดควัน การเผาใบไม้ เผาขยะ เผาพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น รวมถึงการติดเครื่องยนต์ในบ้านเป็นเวลานาน
เลี่ยง : หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองสูง การอยู่กลางแจ้ง หรือทำกิจกรรมนอกอาคารเป็นเวลานาน ในช่วงที่ฝุ่นละออง PM 2.5 มีปริมาณมากกว่า 26 - 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นละอองในอากาศ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร