สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

“จมน้ำเกิดง่ายกว่าที่คิด หนึ่งชีวิต...ไม่ควรสูญเสีย” 25 กรกฎาคม 2567 วันป้องกันการจมน้ำโลก

         ในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก รวมไปถึง    ผู้ที่ออกหาปลาในแหล่งน้ำอาจพลาดตกน้ำจมน้ำเสียชีวิตได้ อีกประการหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยคือ เด็กจมน้ำ โดยเด็กไปเล่นน้ำกันเองโดยไม่แจ้งผู้ใหญ่ หรือพลัดตกน้ำจากอุบัติเหตุ ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน และเกิดความสูญเสียขึ้น เนื่องใน “วันป้องกันการจมน้ำโลก” (World Drowning Prevention Day) ปี 2567 นี้ สมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) ได้กำหนดประเด็นในการรรรงค์ว่า “จมน้ำเกิดง่ายกว่าที่คิด หนึ่งชีวิต...ไม่ควรสูญเสีย” Anyone can drown, no one should. เพื่อให้ประชาชนและทุกภาคส่วนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญและร่วมมือกันแก้ปัญหาการจมน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของทั่วโลก

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงวันป้องกันการจมน้ำโลก (World Drowning Prevention Day) ว่า การจมน้ำยังคงเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขทั่วโลก จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก พบว่า การจมน้ำ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 3 จากสาเหตุการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ (unintentional injury) ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิต ประมาณ 236,000 คน สำหรับประเทศไทย การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจากอุบัติเหตุขนส่งทางบก และการมีเจตนาทำร้ายตนเอง จากข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2556 - 2565) คนไทยเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 3,640 คน หรือเฉลี่ยวันละกว่า 10 คน สมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) จึงได้กำหนดให้วันที่ 25 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันป้องกันการจมน้ำโลก” โดยขอให้ประเทศสมาชิกทั่วโลก จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้ประชาชนและทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการจมน้ำ และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการจมน้ำ ตลอดเดือนกรกฎาคม 2567

         จากข้อมูลการเฝ้าระวังการจมน้ำ ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การจมน้ำในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 พบว่า ประเทศไทยมีเหตุการณ์ตกน้ำ จมน้ำจำนวนทั้งสิ้น 575 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต จำนวน 513 ราย 

         สถานการณ์การตกน้ำ จมน้ำในเขตสุขภาพสุขภาพที่ 9 ในปี 2567 มีเหตุการณ์ตกน้ำ จมน้ำจำนวนทั้งสิ้น 20 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต จำนวน 19 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จังหวัดนครราชสีมา เกิดเหตุการณ์ 9 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 8 ราย 2) จังหวัดสุรินทร์ เกิดเหตุการณ์ 7 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7 ราย 3) จังหวัดบุรีรัมย์ เกิดเหตุการณ์ 3 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 3 ราย 4) จังหวัดชัยภูมิ เกิดเหตุการณ์ 1 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1 รายกลุ่มอายุที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดของเขตสุขภาพที่ 9  คือ กลุ่มอายุ 0-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 15-29 ปี และ กลุ่มอายุ 30-44 ปี ตามลำดับ

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า แนวทางการป้องกันการจมน้ำ ควรใช้มาตรการ ตะโกน โยน ยื่น ดังนี้ 1) ตะโกน: คือ เรียกให้คนมาช่วย ขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 หรือ รพ.ใกล้เคียง    2)โยน: คือ การโยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ 3)ยื่น: คือการยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ หากช่วยคนตกน้ำขึ้นมาจากน้ำแล้ว ต้องรีบแจ้งสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 โดยเร็วที่สุด หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ