สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

กรมควบคุมโรค ห่วงเกษตรกรในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ระวังป่วยด้วยโรคไข้ฉี่หนู แนะหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ททุกครั้ง

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเกษตรกรในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว อาจป่วยด้วยโรคไข้ฉี่หนู  เผยผู้ป่วยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร แนะหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ททุกครั้ง หรือถ้าไม่ได้สวมรองเท้าบู๊ท เมื่อลุยน้ำเสร็จต้องรีบล้างมือล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำโดยเร็ว

          วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2563) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกร ในบางพื้นที่ที่ทำการเกษตรอาจยังมีน้ำขัง ประชาชนที่ประกอบอาชีพดังกล่าวอาจต้องเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานานขณะเก็บเกี่ยวผลผลิต ดังนั้น โรคที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือโรคเลปโตสไปโรสิส หรือโรคไข้ฉี่หนู เพราะเชื้อโรคชนิดนี้จะเข้าทางบาดแผล รอยถลอก รวมถึงผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาชีพที่พบผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไข้ฉี่หนูมากที่สุดคืออาชีพเกษตรกร

          สถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ตุลาคม 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 1,223 ราย เสียชีวิต 16 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ 45-54 ปี รองลงมาคือ 35-44 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร 504 ราย เสียชีวิต 7 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ระนอง ยะลา พังงา พัทลุง และสงขลา

          สำหรับอาการของโรคไข้ฉี่หนูเริ่มจากมีไข้สูงทันที ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่น่องและ โคนขาจะปวดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย แพทย์จะดำเนินการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคตามอาการ และความรุนแรงของโรค ยิ่งพบแพทย์เร็วยิ่งมีโอกาสหายเร็ว โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เสียชีวิตเกิดจากพบแพทย์ช้าเกินไป จึงต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันทีที่มีอาการ

          นายแพทย์โอภาส กล่าวแนะนำว่า วิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคไข้ฉี่หนู มีดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ 2.หมั่นล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ  3.หมั่นทำความสะอาดบ้านเรือนและสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาด ไม่มีหนูชุกชุม  และ 4.หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

*******************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563

 

 


ข่าวสารอื่นๆ