สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

สคร.9 เตือนประชาชน เนื่องในวันความดันโลหิตสูงโลก “ควบคุมความดันโลหิต ยืดชีวิตให้ยืนยาว”

         วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก ซึ่งโรคความดันโลหิตสูง หรือ Hypertension เป็นโรคที่มีความสำคัญมาก ถือเป็นฆาตกรเงียบ” เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการ อาจตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปตรวจรักษาโรคอย่างอื่น จนทำให้หลายคนต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ แต่สามารถตรวจพบได้จากการวัดความดันโลหิตเป็นประจำ ปีนี้สมาคมโรคความดันโลหิตสูง ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ ควบคุมความดันโลหิต ยืดชีวิตให้ยืนยาว หรือ “Measure Your Blood Pressure Accurately, Control It, Live Longer สคร.9 นครราชสีมา แนะประชาชนวัดความดันโลหิตเป็นประจำ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดดื่มแอลกอฮอล์ ลดความเครียด รู้จักปล่อยวาง เพื่อป้องกันการป่วยจากโรคความดันโลหิตสูง

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคความดันโลหิตสูงว่า ปีนี้สมาคมโรคความดันโลหิตสูง ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ ควบคุมความดันโลหิต ยืดชีวิตให้ยืนยาว หรือ “Measure Your Blood Pressure Accurately, Control It, Live Longer” โรคความดันโลหิตสูงเป็นภาวะที่ความดันโลหิตสูงกว่าปกติ เท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งค่าความดันโลหิตของคนปกติคือ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงทำให้มีอาการต่างๆ ได้แก่ ปวดศีรษะ ใจสั่น ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย    วิงเวียน สับสน หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ

         ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์อัมพาต หากได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต พร้อมติดตามวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดียิ่งขึ้น และลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้เป็นอย่างดี

         จากฐานข้อมูลสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2565 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 6.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 2 แสนคน ส่วนในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยจากโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ จำนวน 507,104 คน สถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงในเขตสุขภาพที่ 9 พบว่าในปี 2566 มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จำนวน      62,670 คน

          นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอเชิญชวนประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป วัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เมื่อตรวจพบว่าเป็นความดันโลหิตสูงควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา และปฏิบัติตนดังนี้คือ ควรอ่านฉลากโภชนาการก่อนบริโภค โดยปริมาณโซเดียมที่แนะนำต่อวัน คือ ไม่ควรกินโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน หรือควรกินเกลือไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา หรือเทียบกับน้ำปลาไม่เกินวันละ    4 ช้อนชา ลดอาหารมันทุกชนิด เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้รสหวานน้อย ทำจิตใจให้สงบ ปล่อยวางเพื่อจัดการความเครียด งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอวันละ 30 นาที ตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ และพบแพทย์ตามนัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


ข่าวสารอื่นๆ