สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

ลอยกระทง ลอยกะเธอ ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง ป้องกันอุบัติเหตุและจมน้ำวันลอยกระทง

         ลอยกระทงปี 2566 นี้ สคร.9 นครราชสีมา เตือนประชาชนระวังอุบัติเหตุและจมน้ำเสียชีวิตในช่วงวันลอยกระทง ขอให้ยึดหลัก ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง คือ ไม่ดื่มสุรา ไม่ลงน้ำหรือไปเก็บกระทงหรือเก็บเงินในกระทง ไม่ปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง เมื่อนำเด็กเข้าใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี ต้องอยู่ในระยะที่เอื้อมถึง ระมัดระวังการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ เพราะอาจเกิดอันตรายได้

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงเทศกาลลอยกระทงว่า เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง สคร.9 มีความห่วงใย ขอให้ประชาชนระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในเทศกาลลอยกระทง ขอให้ยึดหลัก ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง คือ 1.ไม่ดื่มสุรา 2.ไม่เก็บ คือ อย่าลงน้ำไปเก็บกระทงหรือเงินในกระทง เพราะอาจเสี่ยงจมน้ำและเสียชีวิตได้ 3.ไม่ปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง เพิ่มความระมัดระวังเมื่อนำเด็กเข้าใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี ต้องอยู่ในระยะที่เอื้อมถึง ส่วนเด็กอายุ 3-5 ปี ต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นและเข้าถึงตัวได้โดยเร็ว ไม่ปล่อยให้เด็กไปลอยกระทงกันเองตามลำพังแม้จะอยู่บนฝั่ง เพราะอาจพลัดตกหรือลื่นได้ หากมีการโดยสารเรือให้สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งทั้งผู้ใหญ่และเด็ก และระมัดระวังการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ เพราะอาจเกิดอันตรายได้

         จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกรมควบคุมโรค ช่วงวันลอยกระทง 3 วัน (ก่อน ระหว่าง และหลังวันลอยกระทง) ในปี 2563 – 2565 พบว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ จำนวน 112 ราย 

         กลุ่มอายุที่พบมากสุด คือ 15 – 29 ปี ร้อยละ 32.1 รองลงมาเป็นกลุ่มเด็กอายุ 1 – 14 ปี ร้อยละ 25.9 โดยอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากที่สุด คือ ข้อมือและมือ ร้อยละ 36.6 รองลงมา คือ ศีรษะ ร้อยละ 17 ส่วนใหญ่มีแผลเปิดที่ศีรษะ ร้อยละ 42.1 และได้รับบาดเจ็บที่ตา ร้อยละ 26.3

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า หน่วยงานที่จัดเตรียมพื้นที่ลอยกระทง ควรมีมาตรการ ดังนี้ 1.กำหนดพื้นที่หรือบริเวณสำหรับลอยกระทงให้ชัดเจน โดยเว้นระยะห่าง จัดให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอ และต้องทำรั้วหรือสิ่งกั้นขวางเพื่อป้องกันเด็กตกลงไปในน้ำ 2.ต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคน   ตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเป็นระยะๆ เช่น ห่วงชูชีพ ถังแกลลอน เชือก ไม้ และเขียนป้ายบอกวิธีการใช้            3.จัดเตรียมเสื้อชูชีพให้เพียงพอ 4.จัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลสอดส่องและช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่วนคำแนะนำในการป้องกันการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ มีดังนี้ 1.ไม่ควรให้เด็กจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟด้วยตนเอง และไม่ควรอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว 2.สอนให้เด็กรู้ว่าพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ไม่ใช่ของเล่น แต่เป็นสิ่งที่อันตราย อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ 3.ไม่ควรเก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่จุดแล้วไม่ติดมาเล่น หรือจุดซ้ำเด็ดขาด เพราะอาจเกิดการระเบิดได้ 4.หากจำเป็นต้องจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ในงานพิธีต่างๆ ควรอ่านคำแนะนำ อย่างละเอียด และอยู่ห่างอย่างน้อย 1 ช่วงแขน หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


ข่าวสารอื่นๆ