สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

ห่วง “เด็กจมน้ำช่วงปิดเทอม” สคร.9 เตือนหน้าร้อน ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด

         ในช่วงนี้หลายโรงเรียนเริ่มปิดเทอมแล้ว มีเด็กหลายคนหยุดอยู่บ้าน ไม่มีผู้ดูแล อาจจะชวนกันไปเล่นน้ำคลายร้อนตามแหล่งน้ำ เช่น ลำคลอง ฝายกักเก็บน้ำ หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด หรือจมน้ำเสียชีวิตได้ เตือนผู้ปกครองดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด สำหรับเด็กเล็ก ให้ยึดหลัก “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” ส่วนเด็กโต ให้ยึดหลัก “ตะโกน โยน ยื่น” ป้องกันการตกน้ำและจมน้ำเสียชีวิต

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงช่วงปิดเทอมใหญ่นี้ว่า ในช่วงนี้หลายโรงเรียนเริ่มปิดภาคเรียนแล้ว สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อเด็กนักเรียนหยุดอยู่บ้าน อาจไม่มีผู้ดูแลเด็กเหมือนกับช่วงที่ไปโรงเรียน อาจชักชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติแล้วเกิดพลัดตก ลื่น หรือจมน้ำเสียชีวิตได้ ฝากเตือนผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก ไม่ควรปล่อยให้เด็กเข้าถึงแหล่งน้ำได้เองตามลำพัง เพราะหากคลาดสายตาจากเด็กเพียงเสี้ยววินาที เด็กอาจจมน้ำเสียชีวิตได้  

         ข้อมูลจากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค รายงานว่า ในปี 2566 พบการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 202 ราย โดยเกิดขึ้นในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนมากที่สุด ร้อยละ 32.8 กลุ่มอายุที่จมน้ำมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี หรือร้อยละ 38.6 รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 1-2 ปี ร้อยละ 10.9 เด็กที่จมน้ำส่วนใหญ่จะเสียชีวิต ร้อยละ 58.6 และเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ร้อยละ 70.5 ได้รับการช่วยเหลือผิดวิธีโดยอุ้ม  พาดบ่า ร้อยละ 17.3 และเด็กที่จมน้ำเสียชีวิตว่ายน้ำไม่เป็น ร้อยละ 8.4

         สถานการณ์การตกน้ำ จมน้ำในเขตสุขภาพสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม –  31 ธันวาคม 2566 มีเหตุการณ์ตกน้ำ จมน้ำจำนวนทั้งสิ้น  137 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต จำนวน 137 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้

1) จังหวัดนครราชสีมา เกิดเหตุการณ์ 45 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 43 ราย

2) จังหวัดสุรินทร์ เกิดเหตุการณ์ 41 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 44 ราย

3) จังหวัดบุรีรัมย์ เกิดเหตุการณ์ 35 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 35 ราย

4) จังหวัดชัยภูมิ เกิดเหตุการณ์ 16 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 15 ราย

         กลุ่มอายุที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดของเขตสุขภาพที่ 9  คือ กลุ่มอายุ 0-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ  60 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 30-44 ปี กลุ่มอายุ 45-59 ปี และกลุ่มอายุ 15-29 ปี ตามลำดับ

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า แนวทางการป้องกันการจมน้ำสำหรับเด็กเล็ก และกลุ่มเด็กโต มีดังนี้ สำหรับเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี เราเน้นใช้มาตรการ อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม ดังนี้ 

          1.อย่าเข้าใกล้ แหล่งน้ำ เพราะอาจลื่นพลัดตกลงไปในน้ำ 2.อย่าเก็บ สิ่งของที่ตกลงไปในน้ำด้วยตนเอง ต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยเก็บ 3.อย่าก้ม หรือชะโงกลงไปในแหล่งน้ำ ตุ่มน้ำ ถังน้ำ เพราะอาจหัวทิ่มลงไปในน้ำได้

 ส่วนกลุ่มเด็กโต เน้นห้ามไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง หากพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจะถูกกอดรัดจากผู้ประสบภัย และอาจจมน้ำ และเสียชีวิตไปพร้อมกัน ควรใช้มาตรการ ตะโกน โยน ยื่น ดังนี้ 1.ตะโกน: คือ เรียกให้คนมาช่วย ขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 หรือ รพ.ใกล้เคียง 2.โยน: คือ การโยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ 3.ยื่น: คือการยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ

         หากช่วยคนตกน้ำขึ้นมาจากน้ำแล้ว ต้องรีบแจ้งสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 โดยเร็วที่สุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ