สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

สคร.9 เผย พฤติกรรมเสี่ยงโรคฝีดาษวานร รู้แล้วต้องป้องกัน

          สคร.9 นครราชสีมา แนะป้องกันโรคฝีดาษวานร หลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับคนแปลกหน้า และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง เช่น เปลี่ยนคู่นอนหลายคน เป็นต้น หากมีผื่น ตุ่ม เกิดขึ้นบริเวณร่างกาย ควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะประชาชนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ติดเชื้อ ไอวี เพราะหากติดเชื้อฝีดาษวานรอาจทำให้อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากมีอาการสงสัยเช่น มีตุ่มน้ำ/หนอง ที่มือ เท้า ปาก ใบหน้า อวัยวะเพศ ทวารหนัก มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ให้รีบไปพบแพทย์ตรวจรักษาทันที

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ถึงแม้โรคฝีดาษวานรจะมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลง แต่เป็นโรคติดต่อที่ยังต้องเฝ้าระวัง ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่   ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง รวมถึงการใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานร

         สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 - 15 มีนาคม 2567) พบผู้ติดเชื้อรวม 750 ราย เป็นชาวไทย 675 ราย ชาวต่างชาติ 71 รายไม่ระบุสัญชาติ 4 ราย มีผู้เสียชีวิต 10 ราย ซึ่งมีประวัติสัมผัสแนบชิดเกี่ยวเนื่องกับการมีเพศสัมพันธ์ กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 30-39 ปี ได้รับรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ระยอง เชียงใหม่

         ในเขตสุขภาพที่ 9 (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 - 13 กุมภาพันธ์ 2567) มีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร จำนวน 9 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้

         จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 5 ราย จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 2 ราย จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 1 ราย และจังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 1 ราย

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคฝีดาษวานร โดยพฤติกรรมที่ทำให้เกิดโอกาสติดเชื้อโรคฝีดาษวานร มีดังนี้ 1) สัมผัส/ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร 2) สัมผัสหรือใช้ของ ร่วมกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า เครื่องนอน จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ เป็นต้น 3) กลุ่มผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ สามารถส่งผ่านเชื้อสู่ทารกได้ 4) นั่งใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรเป็นเวลานานโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย การอยู่ในสถานที่แออัด เป็นต้น ทั้งนี้ หากพบว่าติดโรคฝีดาษวานร ควรเข้ารับการรักษาทันที โดยรักษาฟรีตามสิทธิการรักษา กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ไม่มีโรคอื่นร่วมด้วย จะรักษาตามอาการ ส่วนผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีระดับเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดซีดี 4 น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ผู้ป่วยตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีภาวะทางผิวหนัง หรือโรคทางผิวหนังร่วม เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคอีสุกอีใส โรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น หรือมีอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งกรมควบคุมโรคได้สนับสนุนให้กับโรงพยาบาล นำไปรักษาผู้ป่วยดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงอาการแทรกซ้อน แต่ถ้าเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่ใช่สิทธิการรักษาของตัวเอง จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาอื่นๆ นอกเหนือจากค่ายาต้านไวรัส สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ