สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

สคร.9 เผย!!ไข้เลือดออกน่าห่วง เน้นย้ำชุมชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นไข้สูงอย่าเสี่ยงซื้อยากินเอง

         สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงนี้เริ่มน่าเป็นห่วง หลังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี สคร.9 นครราชสีมา ขอเน้นย้ำให้ประชาชนและชุมชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค จะสามารถลดการแพร่เชื้อไข้เลือดออกในชุมชนได้ หวกป่วยเป็นไข้เลือดออกไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือยาพาราเซตามอล ตามขนาดยาที่กำหนด

        นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า โรคไข้เลือดออก สามารถเกิดได้ตลอดทั้งปีไม่เฉพาะหน้าฝนเท่านั้น ขอความร่วมมือให้ประชาชนและชุมชนร่วมกันสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยย้ำให้ดำเนินการกำจัดลูกน้ำยุงลายให้ครอบคลุมในพื้นที่ 7 ร. ได้แก่ 1.โรงเรือน (บ้าน/อาคาร) 2.โรงเรียน/สถานศึกษา 3.โรงพยาบาล 4.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์) 5.โรงแรม/รีสอร์ท 6.โรงงาน และ 7.ส่วนราชการ/องค์กรเอกชน

         สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย สัปดาห์ที่ 11 คือ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 20 มีนาคม 2567 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 20,590 ราย มีผู้เสียชีวิต 28 ราย

         สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตสุขภาพที่ 9 สัปดาห์ที่ 11 คือ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 23 มีนาคม 2567 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 950 ราย มีผู้เสียชีวิต 4 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยสะสม 516 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย 2) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วยสะสม 183 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย  3) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วยสะสม 141 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย 4) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วยสะสม 110 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี และ 15-24 ปี  155

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า การป้องกันโรคไข้เลือดออก ขอให้ทายากันยุง เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อในตัวผู้ป่วยสู่ชุมชน เพราะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกหากถูกยุงลายกัด สามารถส่งต่อเชื้อไข้เลือดออก (หลังผ่านระยะฟักตัวในยุง) ให้ผู้อื่นได้ หากมีอาการไข้สูงเกิน 39-40 องศาเซลเซียสประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีผื่นหรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว แขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือยาพาราเซตามอล ตามขนาดยาที่กำหนด ควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งอาจมีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา หากรับประทานยาลดไข้หรือเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลดภายใน 1-2 วัน นับจากวันที่เริ่มมีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ซึ่งโรคไข้เลือดออกหากได้รับการรักษาเร็วจะสามารถป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ ขอความร่วมมือให้ช่วยกันสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้าน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก เก็บภาชนะกักเก็บน้ำ ให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เก็บขยะ ภายในบริเวณบ้านและโรงเรียน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จะป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ 3 โรคคือโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ