สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา
Responsive image

"กำจัดมาลาเรียให้หมดไป ประเทศไทยทำได้" 25 เมษายน วันมาลาเรียโลก

         วันที่ 25 เมษายน ของทุกปี เป็นวันมาลาเรียโลก (World Malaria Day) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญทางสาธารณสุขของไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขจัดกิจกรรมรณรงค์ วันมาลาเรียโลก ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้แนวคิด Zero indigenous malaria is possible "กำจัดมาลาเรียให้หมดไป ประเทศไทยทำได้" เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของโรคไข้มาลาเรีย และสร้างความเชื่อมั่นในการกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปจากประเทศไทย

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคไข้มาลาเรียว่า เกิดจากเชื้อพลาสโมเดียม โดยมียุงก้นปล่องซึ่งมักอาศัยอยู่ตามป่าเขาเป็นพาหะ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามพื้นที่ป่าเขา รวมถึงพื้นที่แถบชายแดน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผู้ที่ชอบเดินป่า มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด อาการของโรคไข้มาลาเรีย คือ เมื่อผู้ป่วยถูกยุงก้นปล่องตัวเมียกัด จากนั้นประมาณ 10-14 วัน จะมีไข้ หนาวสั่น เหงื่อออก ปวดศีรษะเป็นพักๆ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ในผู้ป่วยเด็กอาจซึม หากไปพบแพทย์ทัน สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยาในเวลาไม่นาน แต่หากไปพบแพทย์ช้า ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง ภาวะปอดบวมน้ำ ภาวะไตวาย ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้

         สถานการณ์ไข้มาลาเรียในประเทศไทยจากระบบมาลาเรียออนไลน์ 9 ตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน 2567 มีผู้ป่วยสะสม 2,810 ราย (น้อยกว่าปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน 483 ราย) มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (ที่จังหวัดชุมพร) กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือ 25 – 44 ปี รองลงมาคือ 15 - 24 ปี และ 5 - 14 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ จังหวัดตาก รองลงมา คือ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์

         สถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน 2567 มีผู้ป่วย 2 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 1 ราย อายุ 55 ปี อาชีพนักวิจัย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 1 ราย อายุ 48 ปี อาชีพรับจ้างก่อสร้าง ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ส่วน จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดสุรินทร์ ยังไม่มีรายงานการผู้ป่วย และเสียชีวิต

         นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงโรคไข้มาลาเรีย 10 - 14 วัน แล้วมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยร่างกาย คลื่นไส้และเบื่ออาหาร ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่โรงพยาบาล ซึ่งมีขั้นตอนคือ การเจาะเลือดหาเชื้อ หากพบเชื้อจะได้รับยา และกินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง มาตรวจเลือดซ้ำตามแพทย์นัด และเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการควบคุมยุงพาหะ ในพื้นที่ให้คลอบคลุมทุกหลังคาเรือน เร่งค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการ 1-3 -7 และเฝ้าระวังการกลับมาแพร่เชื้อใหม่ในพื้นที่ และสำหรับประชาชนเมื่อต้องเข้าป่า หรือไปในพื้นที่เสี่ยงควรป้องกันตนเอง ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมแขนขาให้มิดชิด ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง เมื่อต้องนอนค้างคืนในป่า ควรนอนในมุ้ง โดยมุ้งต้องอยู่ในสภาพดีไม่มีรูขาด รวมทั้งนำมุ้งไปชุบสารเคมีที่มีฤทธิ์ไล่และฆ่ายุง หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ